ไขข้อข้องใจ กินกัญชาในอาหารจะเมาไหม กินเท่าไรถึงดีต่อสุขภาพ
ช่วงนี้มักจะเห็นอาหารคาว ของหวาน และเครื่องดื่มที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมออกมาบ่อยๆ แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าการกินแบบนี้จะมีประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่ แล้วเอามาใส่ในอาหารแบบนี้จะทำให้เมาหรือเปล่า
ต้องอธิบายก่อนว่า กัญชาที่นำมาประกอบอาหารได้อย่างถูกกฎหมายคือ ใบกัญชาสด เช่น ใบกัญชาอ่อน หรือใบเพสลาด (ไม่อ่อนไม่แก่) ซึ่งในใบกัญชาสดจะมีสาร Canabidiol และ Tetrahydrocannabinolic acid ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ไม่มีสารเมา แต่ THCA สามารถเปลี่ยนเป็นสาร THC ได้ ด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น ถูกแสงแดด สภาพอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือการนำไปตากแห้ง เมื่อสาร THCA ถูกเปลี่ยนเป็น THC แต่ยังคงมีปริมาณไม่มากนัก จึงได้รับอนุญาตให้นำมาปรุงอาหารได้ โดยต้องซื้อจากแหล่งปลูกและแหล่งจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจาก อย. ไม่สามารถปลูกกัญชาเพื่อนำไปปรุงอาหารเองได้ ส่วนช่อดอกกัญชา รวมไปถึงเมล็ดกัญชาที่มีสารเมา THC ค่อนข้างสูง ยังคงถือว่าเป็นยาเสพติด ไม่สามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างเสรี
กินกัญชาในอาหารจะเมาไหม
กรณีกินใบกัญชาสด ไม่ผ่านความร้อน จะไม่น่ากังวลเท่าไร เนื่องจากไม่ค่อยมีสารเมา เราจึงสามารถกินแบบผักสด เช่น ผักเคียง สลัด นำใบสดมาตกแต่งบนจานอาหาร จิ้มกับน้ำพริก คั้นเป็นเครื่องดื่ม หรือดื่มน้ำปั่นที่มีส่วนผสมของใบกัญชาสดได้อย่างปลอดภัย แต่หากนำไปปรุงอาหารที่ผ่านความร้อนนานๆ เช่น ต้ม ทอด ต้องระวังสาร THCA จะถูกเปลี่ยนเป็น THC ส่งผลให้ได้รับสารเมาในปริมาณมากขึ้นได้ โดยปัจจัยที่สาร THC จะเพิ่มขึ้นก็คือ ระยะเวลาที่ปรุง ยิ่งปรุงนาน ยิ่งมีสารมากขึ้น รวมทั้งการปรุงด้วยความร้อนและไขมัน
ดังนั้นถ้าจะรับประทานเมนูกัญชาที่ผ่านความร้อนต้องจำกัดปริมาณ คือไม่ควรกินใบกัญชาทั้งใบเกิน 5-8 ใบต่อวัน ซึ่งโดยทั่วไปในเมนูต้มจะใส่ใบกัญชาประมาณ 1-3 ใบ ต่อแกง 1 หม้อ สำหรับรับประทานทั้งครอบครัว เลือกกินแต่น้ำไม่กินใบก็ได้หากต้องการชิมหลายเมนู เพื่อไม่ให้สารเมาสะสมในร่างกายจนเกิดอาการเมา และยังต้องระวังการกินใบแห้งของกัญชา เพราะใบแห้งผ่านความร้อนมาแล้วจึงมีสาร THC อยู่ในตัวประมาณ 1-2 มิลลิกรัมต่อใบ หากนำมาปรุงอาหารด้วยการใช้ความร้อนหรือไขมันอีก ปริมาณสาร THC จะยิ่งสูงขึ้น
วิธีกินกัญชาในอาหารให้ปลอดภัย
1. เลือกกินใบสด เช่น กินเป็นผักสด ยำ หรือนำไปคั้นน้ำดื่ม น้ำปั่น
2. ควรกินเมนูกัญชาที่ไม่ได้ผ่านความร้อนนานๆ เช่น ผัดกะเพรา เพื่อที่ร่างกายจะได้ไม่รับสาร THC มากเกินไป
3. หากกินเมนูต้ม ตุ๋น แกงต่างๆ ควรกินแต่น้ำ ไม่กินใบที่ใส่ลงไป
ผู้ที่ต้องระวังในการกินเมนูใส่กัญชา
1. เด็ก เยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี อาจเกิดภาวะเสพติดขึ้นมาได้
2. ผู้สูงอายุ
3. หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร รวมทั้งผู้หญิงที่วางแผนกำลังจะมีบุตร
4. ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่ตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
5. ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน หรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ เพราะกัญชาจะไปเพิ่มขนาดยาวาร์ฟารินจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย
6. ผู้ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยารักษาอาการจิตเวช