สธ.โต้แพทย์ชนบทยันวัคซีนไม่หมดอายุ ลั่น 16 ล้านโดส ไม่ได้มีแต่ ซิโนแวค
วันที่ 7 มิ.ย. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทท้วงการส่งวัคซีนโควิด-19 ไปที่ รพ.สต. ทำให้วัคซีนล้นตู้ เหมือนเอาไปทิ้งขยะรอวันหมดอายุ ว่า ตัวเลขวัคซีน 16.8 ล้านโดส เป็นตัวเลขยอดให้ทราบว่า มียอดวัคซีนที่ต้องฉีดเท่านี้ และเรามีวัคซีนเพียงพอ โดยการจัดส่งวัคซีนมีการตกลงกันระหว่างต้นทางกับปลายทาง ทั้งเรื่องจำนวนและชนิดของวัคซีน เพราะวัคซีนทุกชนิดมีรูปแบบการจัดเก็บและควบคุมอุณหภูมิที่แตกต่างกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งไปแล้วไม่บอกปลายทาง
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ที่สำคัญปลายทางที่จัดส่ง คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไม่ได้กระจายตรงไปที่ รพ.สต. แต่ สสจ.ยังกระจายไป รพ.อำเภอและ รพ.สต.ในพื้นที่เอง หากมี รพ.สต.ที่ไหนวัคซีนล้น หมดอายุ ก็ขอให้แจ้งมาจะได้สอบถามไปที่ สสจ. แต่เท่าที่ติดตามตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่า รพ.สต.ที่ไหนวัคซีนล้น
สำหรับรูปที่นำมาแสดงก็ไม่รู้ว่าเป็นรูปเก่าหรือใหม่ อยากให้ไปดูข้อเท็จจริงกันด้วย นอกจากนี้ ได้รับรายงานว่าบางแห่งก็ยังขาดวัคซีน และต้องการรับวัคซีน ต้องการอยากให้ส่งไป เช่น ชลบุรีที่ประกาศว่าทุก รพ.สต.พร้อมฉีด
วัคซีนโควิดที่ส่งไปยังไม่หมดอายุ สามารถฉีดได้ เดี๋ยวจะเข้าใจว่าวัคซีนหมดอายุแล้วไม่มาฉีดกัน จึงต้องขอให้มาฉีดวัคซีนกันด้วย เพราะตอนนี้ยังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้น้อยเพียง 41% ซึ่งเราต้องการให้แต่ละพื้นที่ถึง 60% ทั้งนี้ วัคซีนโควิดหมดอายุอาจเกิดขึ้นได้ เหมือนกับวัคซีนตัวอื่นๆ และยาต่างๆ เพราะเมื่อกระจายไปยังหน่วยบริการแล้ว หากประชาชนไม่มาฉีด หรือไม่มีคนไข้ทำให้ไม่ได้ใช้ยา หากหมดอายุก็ทำลายตามระเบียบต่อไปเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องใหม่
ส่วนที่ระบุว่าส่งวัคซีนซิโนแวคไปมากกว่า 16 ล้านโดส ไม่เป็นความจริง เพราะ 16 ล้านโดสนั้น มีวัคซีนหลายยี่ห้อ ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ส่วนซิโนแวคเหลือไม่ถึงล้านโดส สำหรับแผนการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ปี 2565 จำนวน 120 ล้านโดส อนุมัติซื้อวัคซีนไปแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 36 ล้านโดส ที่เหลือจะปรับขยายระยะเวลาจัดส่งไปยังปี 2566 ซึ่งรอดูองค์การอนามัยโลกประกาศว่าจะให้มีการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทุกปี หากต้องฉีดไทยก็พร้อม เพราะนำวัคซีนที่ปรับขยายเวลาจัดส่งมาฉีดเป้นเข็มกระตุ้นคนละเข็มได้