หลังปีใหม่ 2 สัปดาห์ ยอด “โควิด” ลดลงจริง ไม่ห่วง “ตรุษจีน” จ่อแยกข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติป่วย
วันที่ 17 ม.ค. 66 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 หลังผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่มา 2 สัปดาห์ พบผู้ป่วยโควิด19 รายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก เสียชีวิตลดลง ว่า ตัวเลขที่รายงานเป็นข้อมูลจริงที่มาจาก รพ.ที่รับรักษาผู้ป่วยโควิดทั้งรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิต ยืนยันได้ว่าเป็นการเก็บข้อมูลและรายงานตามระบบปกติ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่า พบการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ
กรมควบคุมโรคจะดำเนินการแยกจำนวนผู้ติดเชื้อออกเป็นการติดเชื้อในประเทศและกลุ่มนักท่องเที่ยว คาดว่าจะเริ่มรายงานรูปแบบดังกล่าวในสัปดาห์หน้า โดยจะขอความร่วมมือกับ รพ.เอกชนส่งรายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิด 19 มาให้กองระบาดวิทยา เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เมื่อป่วยก็จะไป รพ.เอกชน
“กรมควบคุมโรคมีระบบเฝ้าระวังโควิดในสถานที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว ตามระบบ Sentinel surveillance เช่น ตลาด โรงเรียน โรงงาน สถานที่ท่องเที่ยว มีการเฝ้าระวังในจังหวัดท่องเที่ยว 8-10 จังหวัด ซึ่งยังไม่พบการติดเชื้อที่ผิดปกติ” นพ.ธเรศ กล่าว
เมื่อถามถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนอาจจะมีการติดเชื้อมากขึ้นหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ช่วงก่อนหน้านี้เราก็มีความกังวลช่วงปีใหม่ ก็มีการเฝ้าระวังต่อเนื่อง ซึ่งปีใหม่มีการเดินทางมากกว่าตรุษจีน แต่เราก็ไม่ประมาท ยังต้องเฝ้าระวัง และสื่อสารเตือนประชาชน
ถ้าหากต้องเข้าพื้นที่ที่มีคนมากๆ ขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้อายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ เฝ้าระวังตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือ ส่วนคนหนุ่มสาวที่ต้องไปพบผู้สูงอายุ ก็ให้สอบถามว่าท่านรับวัคซีนโควิด 19 ครบแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ครบ ผู้ที่จะเข้าไปพบท่านก็ต้องป้องกันเป็นพิเศษมีการเว้นระยะห่างจากท่าน
เมื่อถามถึงวัคซีนโควิดชนิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent) นพ.ธเรศ กล่าวว่า เบื้องต้นทีมวิชาการติดตามดูว่า ยังไม่มีผลการศึกษาว่าต้องเปลี่ยนแปลงวัคซีนเป็นวัคซีนโควิดสองสายพันธุ์ เพื่อการกระตุ้นที่ดีกว่า
ฉะนั้นเบื้องต้นเราจะใช้วัคซีนเดิมที่มีเพื่อกระตุ้น แต่จะมีการติดตามผลวัคซีนใหม่ๆ ถ้ามีประสิทธิผลดีกว่าก็จะนำเข้ามา แต่ขณะนี้ก็มีผู้ประสงค์บริจาควัคซีน bivalent ให้เรา ซึ่งทีมวิชาการกำลังศึกษาอยู่ อย่างที่มีข้อมูลออกมามีความสัมพันธ์กับอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งในที่สุดก็มีผลออกมาว่าเป็นข่าวที่ไม่จริง (Fake News) ฉะนั้น เราจะต้องมีการพิจารณา ศึกษาอย่างรอบคอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 สัปดาห์ที่ 2 วันที่ 8-14 ม.ค. 2566 มีผู้ป่วยโควิด 19 รักษาใน รพ. 969 ราย เฉลี่ย 138 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 322 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 203 ราย และผู้เสียชีวิต 65 ราย เฉลี่ย 9 รายต่อวัน ลดลงจากสัปดาห์แรกของปี วันที่ 1-7 ม.ค. 2566 ซึ่งมีผู้ป่วยโควิดรักษาใน รพ. 977 ราย เฉลี่ย 142 รายต่อวัน วันที่ 25-31 ธ.ค. 2565 มีผู้ป่วย 2,111 ราย เฉลี่ย 302 รายต่อวัน