“รมช.สธ.” เผย เมืองสมุนไพรสุราษฎร์ธานี สร้างอาชีพ เตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์หนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามความก้าวหน้าโครงการสุราษฎร์ธานีเมืองสมุนไพร เผยช่วยชาวบ้านในพื้นที่ มีอาชีพปลูกและจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพร ส่งให้โรงงานผลิตยาสมุนไพรทั้งยาเดี่ยวและตำรับกว่า 100 รายการ เตรียมผลิตตำรับน้ำมันกัญชาแก้อาการปวดมะเร็ง นอนไม่หลับ และโรคผิวหนัง และพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งเครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม
วันนี้ 20 ม.ค. 66 ที่โรงพยาบาลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ติดตามการดำเนินงานโครงการสุราษฎร์ธานีเมืองสมุนไพร พร้อมทั้งเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU การรับซื้อสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และขมิ้นชัน ระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกล่าวว่า โครงการเมืองสมุนไพรเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ โรงงานผลิตยาสมุนไพรท่าฉาง ซึ่งได้รับมาตรฐานระดับ WHO-GMP ตั้งแต่ปี 2557 มีแผนที่จะผลิตยาสมุนไพรทั้งประเภทยาอม ยาชง ยาแคปซูล (ตำรับ) ยาผง และยาแคปซูลเดี่ยว เพิ่มขึ้นเป็น 42 รายการ (เพิ่มขมิ้นชันแคปซูล และฟ้าทะลายโจรแคปซูล) ส่วนโรงแปรรูปสมุนไพรมะขามเตี้ย มีการผลิตยาสมุนไพรแห้ง ยาสมุนไพรแห้ง (ตำรับ) และยาใช้ภายนอก เพิ่มเป็น 129 รายการ (เพิ่มสเปรย์ยูคาลิปตัส) และในช่วงเดือนมีนาคม 2566 โรงงานผลิตยาสมุนไพรท่าฉางยังมีแผนจะผลิตตำรับน้ำมันกัญชาสูตรลุงดำเกาะเต่า จำนวน 3 ตำรับ ได้แก่ ตำรับยาน้ำมันกัญชาสูตรลุงดำเกาะเต่า สูตรที่ 1 รูปแบบน้ำมันหยอด แก้อาการปวดมะเร็ง สูตรที่ 2 รูปแบบแคปซูล แก้อาการนอนไม่หลับ และสูตรยาใช้ภายนอก รูปแบบยาสเปรย์ แก้อาการโรคผิวหนัง ซึ่งทั้งหมดช่วยให้เกิดอาชีพปลูกและจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพรในพื้นที่ โดยเฉพาะสมุนไพรขมิ้นชันและฟ้าทะลายโจร ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคุณภาพสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทำให้มีมูลค่าสูงกว่าที่อื่นๆ 2 – 3 เท่า
ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานียังได้กำหนดวิสัยทัศน์ “สุราษฎร์ธานีเมืองสมุนไพร การแพทย์แผนไทยก้าวหน้า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยั่งยืน” โดยมีแผนบูรณาการผลิตภัณฑ์สมุนไพรเข้าสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งเครื่องสำอาง อาทิ เซรั่มสารสกัดใบบัวบกผสมสารสกัดขมิ้นชัน เซรั่มบำรุงผิวหน้าสารสกัดเห็ดแครง ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ เครื่องดื่มพร้อมชงกฤษณาและขลู่ น้ำสลัดครีมจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เป็นต้นซึ่งจะทำให้เกิดการปลูกและจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ขลู่ และขมิ้นชัน ให้กับโรงผลิตยาสมุนไพรท่าฉางมากขึ้นด้วย
จากนั้น ดร.สาธิต และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ รพ.บ้านนาเดิม ซึ่งมีปัญหาสาธารณสุขที่พบมากที่สุดในพื้นที่ 5 อันดับ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุมากขึ้น อุบัติเหตุทางถนน และโรคอุบัติใหม่ ได้มุ่งแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยการคัดกรองที่ครอบคลุม เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการดูแลที่ รพ.สต. ใกล้บ้าน ส่วนผู้สูงอายุ มีการบูรณาการการดูแลสุขภาพจนถึงระยะท้ายของชีวิต และมีแผนรับฝากดูแล/Respite Care สำหรับกลุ่มพึ่งพิง (ติดบ้าน-ติดเตียง) รวมถึงจัดสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลให้เอื้อต่อผู้สูงอายุ ให้บริการ Banna Day Care Center และเยี่ยมบ้าน นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาศักยภาพและจัดโปรแกรมตรวจสุขภาพให้กับ อสม. ในพื้นที่ทุกคน