แม้ผ่านมา 3 ปี WHO ชี้โควิดยังเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโลก
สำนักข่าวต่างประเทศ CNN รายงานว่า คณะกรรมการฉุกเฉินตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations Emergency Committee) ขององค์การสหประชาชาติ หารือกันเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา และเห็นชอบว่า ควรคงสถานะการระบาดของไวรัสมรณะชนิดนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโลก (PHEIC) ต่อไปก่อน
แต่ตามแถลงการณ์ซึ่งออกเมื่อวันจันทร์ที่ 30 ม.ค. 2566 คณะกรรมการที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า พวกเขาเรียกร้องให้ WHO เสนอทางเลือก กลไกทางเลือกเพื่อให้โลกและประเทศต่างๆ ให้ความสนใจกับโควิด-19 ต่อไป หลังจาก PHEIC ถูกยกเลิก
“การทำให้ประชากรทั่วโลกมีภูมิคุ้มกันในระดับสูง ทั้งจากการติดเชื้อและ/หรือการฉีดวัคซีน อาจจำกัดผลกระทบของซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ในแง่ของอัตราการทำเป็นโรคและทำให้เสียชีวิตได้ แต่แทบไม่มีข้อสงสัยว่าไวรัสนี้จะยังคงเป็นเชื้อโรคถาวรในมนุษย์และสัตว์ในอนาคตที่มองเห็นได้ ดังนั้น มาตรการสาธารณสุขในระยะยาวจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
ในขณะที่การกำจัดไวรัสชนิดนี้ไปจากมนุษย์และสัตว์ ไม่น่าที่จะเป็นไปได้ การบรรเทาผลกระทบอันร้ายแรงจากการติดเชื้อและการเสียชีวิตเป็นสิ่งที่ทำได้ และควรเป็นเป้าหมายลำดับแรกต่อไป”
นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO แนะนำให้ประเทศต่างๆ ฉีดวัคซีนให้ประชาชนต่อไป และรวมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข้ากับการดูแลสุขภาพอย่างเป็นกิจวัตร, พัฒนาการควบคุมดูแลโรค, รักษาระบบสาธารณสุขให้แข็งแกร่งเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดวงจรอุบาทว์ของการแตกตื่นเมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่มสูง และการละเลยเมื่อผู้ติดเชื้อลดลง, ต่อสู้กับการเผยแพร่ข่าวลวงต่อไป และปรับมาตรการเดินทางระหว่างประเทศตามระดับความเสี่ยง