โควิดหายแต่หนี้เสียยังอ่วมเฉียด 5 แสนล้าน พิษค่าครองชีพสูง-ขึ้นดอกเบี้ยซ้ำเติม
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาพรวมธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4/2565 และปี 2565 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ใน ปี 2565 ขยายตัวที่ 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสินเชื่อซอฟต์โลน รวมทั้งการโอนพอร์ตรายย่อยไปยังบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง และการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ โดยสินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคพาณิชย์ที่ยังขยายตัวได้ที่ 2.3%
ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวที่ระดับ 1.7% จากไตรมาส 3/2565 ขยายตัวที่ 3.9% โดยสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลยังเติบโตได้อยู่ สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินจากสินเชื่อเหล่านี้
ด้านคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้เสียปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.99 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมที่ 2.73% จากไตรมาส 3/2565 ที่ 2.77% โดยเป็นการลดลงจากสินเชื่อธุรกิจ เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของสินเชื่อธุรกิจ และการปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง การบริหารจัดการคุณภาพหนี้ รวมไปถึงการขายหนี้ไปยัง AMC
ขณะที่สินเชื่อรายย่อย สัดส่วนหนี้เสีย ยังคงอยู่ที่ระดับ 2.62% เท่าเดิม โดยภาพรวมสินเชื่ออุปโภคบริโภค พบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 3.01% จากไตรมาส 3/2565 ที่ 3.25% ขณะที่สัดส่วนหนี้อื่นปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งสินเชื่อรถยนต์ ขึ้นมาอยู่ที่ 1.88% จากไตรมาส 3/2565 ที่ 1.66% สินเชื่อบัตรเครดิต ที่ 3.12% จากไตรมาส 3/2565 ที่ 2.46% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 2.40% จากไตรมาส 3/2565 ที่ 2.22%
“ทิศทางหนี้เสียอาจจะทยอยเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เป็นหน้าผา โดยภาพรวมถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง โควิด-19 ด้วยมาตรการช่วยเหลือที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งวันนี้คิดว่ายังเพียงพอรองรับสถานการณ์ลูกหนี้ที่เปราะบาง เพราะเดิมทีเราคิดว่าเมื่อโควิด-19 ดีขึ้นชัดเจน สถานการณ์ต่างๆ ก็น่าจะดีขึ้น แต่ที่เห็นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือภาพการส่งออกที่ดูไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จากการชะลอตัวของฝั่งคู่ค้า และค่าครองชีพที่สูงอาจจะกระทบครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจจะมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องจับตาดูอยู่ ดังนั้นสิ่งที่ ธปท. ได้เน้นย้ำกับทางฝั่งเจ้าหนี้เสมอมา คือ การเน้นให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้” น.ส.สุวรรณี กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ปี 2565 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยหลักเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลงมาอยู่ที่ 1.8 แสนล้าบาท ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะต่ำกว่าปี 2563-2564 หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงตลอดช่วงโควิด-19 โดยทั้งปีธนาคารพาณิชย์มีกำไร 2.36 แสนล้านบาท
น.ส.สุวรรณี กล่าวอีกว่า ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม โดยภาคครัวเรือน แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 3/2565 จะปรับลดลงอยู่ที่ 86.8% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากช่วงสูงสุดในปี 2564 ที่ระดับ 90.1% แต่ครัวเรือนยังเปราะบางจากภาระหนี้สูงและยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธปท. ได้พยายามทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบหนัก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง