ค่าเสี่ยงภัยโควิด กว่า 7 พันล้านยังไร้มติ ครม. หวั่น! ยุบสภาแล้วอาจติดเงื่อนไขพิจารณางบฯ
ผู้บริหารสธ. ชี้ค่าเสี่ยงภัยโควิด19 บุคลากรทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงฯ อยู่ที่สำนักงบประมาณแล้ว ด้านแวดวงสาธารณสุขห่วงขณะนี้เป็น ครม.รักษาการ อาจติดเงื่อนไขพิจารณางบประมาณ ส่วนเครือข่ายลูกจ้างมองไม่ใช่งบผูกพัน อนุมัติได้ รอประชุมขับเคลื่อนวันเมย์เดย์
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสาธารณสุขกรณีค่าเสี่ยงภัยโควิด19 สำหรับผู้ปฏิบัติงานโควิดทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องรอเสนอของบประมาณกลางกว่า 7 พันล้านบาท เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติ แต่ปรากฎหว่า เกิดการยุบสภาแล้ว ส่งผลให้บุคลากรสาธารณสุขหลายคนตั้งคำถามว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
เงื่อนไขการปฏิบัติงาน ครม.รักษาการ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม แหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลกับสื่อ Hfocus ว่า หลังจากมีการยุบสภาไปแล้วนั้น คณะรัฐมนตรี(ครม.) จะเป็น ครม.รักษาการต้องปฏิบัติงานภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 169 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนด โดยเงื่อนไขหลักๆของการปฏิบัติหน้าที่ ครม.รักษาการ คือ
1.การกระทำอันมีผลต่างๆ เช่น การอนุมัติงานหรือโครงการ การสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดต่อไป ยกเว้น กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
2.กระทำต่อข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เช่น แต่งตั้งโยกย้าย ให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง ให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน ยกเว้นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
3. กระทำอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
4.ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง
5.กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่กกต.กำหนด
“ประเด็นค่าเสี่ยงภัยโควิด อาจเข้าข่ายการอนุมัติงบกลาง ซึ่งเงื่อนไขหนึ่งคือ ไม่อนุมัติงบกลาง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน ประเด็นนี้ทำให้คิดว่า เป็นไปได้ที่ยังไม่มีการเสนอครม.หลังยุบสภา เพราะหวั่นผิดเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งก็ต้องรอดูว่าสำนักงบฯ จะพิจารณาอย่างไร หรือจะส่งให้ สธ.หรือไม่อย่างไร ต้องรอผู้บริหารให้คำตอบ” แหล่งข่าวฯ กล่าว
สธ.ส่งเรื่องค่าเสี่ยงภัยโควิดให้สำนักงบประมาณแล้ว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารทั้ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ. ถึงค่าเสี่ยงภัยโควิด19 ได้คำตอบลักษณะเดียวกัน ว่า สำหรับค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด19 ทั้งบุคลากรกระทรวงฯ และนอกกระทรวงฯ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบกลาง รวมทั้งสิ้น 7,181,617,200 บาท ซึ่งได้เสนอสำนักงบประมาณไปแล้วตั้งแต่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้น ต้องรอสำนักงบประมาณอนุมัติ และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา ขอย้ำว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและไม่ได้นิ่งนอนใจเลย
เครือข่ายลูกจ้างจ่อหารือเคลื่อนไหวในวัน May Day
วันเดียวกัน นายโอสถ สุวรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย(สสลท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเรียกร้องค่าเสี่ยงภัยโควิด19 ซึ่งขณะนี้มีการยุบสภา จนเกิดข้อกังวลว่าจะไม่สามารถพิจารณางบกลางดังกล่าว ว่า จริงๆเรื่องนี้เป็นงบประมาณเดิม แม้จะเป็นงบกลางก็ตาม ซึ่งเป็นของเดิมก็น่าจะดำเนินการได้ เพื่อบุคลากรทุกคนที่ทำงานช่วงสถานการณ์โควิด19 อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายแรงงานทั้งหมดจะมีการประชุมกันเกี่ยวกับกิจกรรมขับเคลื่อนสิทธิ์แรงงานในวันแรงงาน May Day ซึ่งเรื่องนี้ก็จะรวมอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน
“ภายในสิ้นเดือนนี้ ทางสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย(สลท.) และสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างฯ เครือข่ายแรงงานต่างๆจะประชุมการขับเคลื่อนสิทธิ์ต่างๆของแรงงานไทย ซึ่งจะมีการพิจารณาเรื่องสิทธิสวัสดิการ ความเป็นธรรมของลูกจ้างสายสนับสนุนในกระทรวงสาธารณสุขด้วย รวมทั้งเรื่องค่าเสี่ยงภัยโควิด ซึ่งจะเสนอต่อนายกฯ ในวัน May Day ซึ่งเรามีกิจกรรมทุกปี หากมีความชัดเจนอย่างไรจะมีการแถลงข่าวต่อไป” ประธาน สสลท. กล่าว
สมาพันธ์แพทย์ รพศ.รพท.วอนผู้ใหญ่สธ.ติดตามค่าเสี่ยงภัย
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป โพสต์ข้อความทวงถามค่าเสี่ยงภัยโควิด19 ให้บุคลากร ว่า
ในlink วิดีโอ เป็นเรื่องของ “แมวปีนขึ้นต้นมะพร้าว” แล้วมีการบรรยายเหมือนให้แมวเก็บลูกมะพร้าวให้ พร้อมกับเขียนข้อความ”ใช้แรงงานเราแล้ว อย่าลิมจ่ายค่าจ้างด้วยล่ะ” ซึ่งเข้ากับสถานการณ์ในขณะนี้ ที่บุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากยังไม่ได้รับ ค่าตอบแทนพิเศษในสถานการณ์โควิด และค่าเสี่ยงภัยโควิดก็วอนผู้ใหญ่ในกระทรวง/รัฐบาล ช่วยดำเนินการ ให้ผู้มีสิทธิรับค่าตอบแทนดังกล่าวโดยเร็ว… ค้างมานานแล้ว หลายคนบอก