สธ. และ สปสช. ทำงานอย่างใกล้ชิด ร่วมชี้แจง”กฤษฎีกา” ขอบังคับใช้ร่าง พ.ร.ฎ.งบป้องกันโรคกลุ่มนอกสิทธิ์บัตรทอง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 65
กระทรวงสาธารณสุข ทำงานร่วมกับ สปสช อย่างใกล้ชิดเตรียมให้ข้อมูลการให้บริการส่งเสริมป้องกันโรค ประชาชนกลุ่มนอกสิทธิ์บัตรทองของหน่วยงานในสังกัด ในการชี้แจงทำความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ร่าง พ.ร.ฎ.ใช้งบป้องกันโรคกลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เนื่องจากมีการให้บริการแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับหน่วยบริการในการเบิกจ่ายย้อนหลัง
วันที่ 27 มี.ค. 66 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเพจชมรมแพทย์ชนบทให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาที่ให้ สปสช.บริหารจัดการงบส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับบุคคลนอกสิทธิบัตรทอง ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้เริ่มบังคับใช้ตามวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอาจทำให้หน่วยบริการที่ให้บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ไม่สามารถเบิกจ่ายย้อนหลังได้ ว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติมอบให้สปสช.ดำเนินการยื่นพระราชกฤษฏีกาในการใช้สิทธิ์ด้านส่งเสริมป้องกันโรคของประชาชนกลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง เช่น ข้าราชการและประกันสังคม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมดำเนินการและสนับสนุนทีมของสปสช. ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนถึงมีมติให้ออกพระราชกฤษฎีกาเรื่องงบส่งเสริมป้องกันโรค ปี 2566 โดยระหว่างนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีข้อสั่งการให้หน่วยบริการในสังกัดจัดบริการส่งเสริมป้องกันโรค และ สปสช.ประสานหน่วยบริการนอกสังกัดจัดบริการ เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อประชาชน
สำหรับประเด็นเรื่องวันที่มีผลบังคับใช้ร่างพระราชกฤษฎีกา ซึ่งในร่างให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 แต่มีข้อกังวลว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาจะให้บังคับใช้ตามวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษานั้น สปสช.ได้มีการนำประเด็นดังกล่าวมาร่วมประชุม และกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการที่จะรวบรวมข้อมูลการให้บริการส่งเสริมป้องกันโรคแก่ประชาชนกลุ่มนอกสิทธิ์บัตรทอง ของหน่วยงานในสังกัด เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนให้สปสช.ประกอบการทำความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า การจัดบริการด้านส่งสริมสุขภาพและป้องกันโรค เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 แล้ว เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. จึงเห็นตรงกันว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาควรบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เพื่อให้หน่วยบริการที่ให้บริการแล้วสามารถเบิกจ่ายงบประมาณในการจัดบริการจาก สปสช.ได้ตามความเป็นจริง