“หมอธีระ” ชี้เชื้อโควิดอาจมีส่วนกระตุ้นโรคประจำตัวต่างๆ ทำให้การเสียชีวิตส่วนเกินของโลกสูงขึ้น!
วันที่ 12 เม.ย. 66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 12 เมษายน 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 44,067 คน ตายเพิ่ม 165 คน รวมแล้วติดไป 685,081,713 คน เสียชีวิตรวม 6,838,360 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.11 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 67.27
…แนวโน้มจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินของโลกสูงขึ้น
แพทย์และนักวิชาการหลายต่อหลายคนชี้ให้เห็นตรงกันว่า แม้ภาพรวมตัวเลขที่รายงานทั้งจำนวนติดเชื้อใหม่ และจำนวนเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยตรงจะมีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลจากความต้องการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่โดยแท้จริงแล้ว การติดเชื้อ การตายอันเนื่องมาจากโควิด-19 นั้นน่าจะมากกว่าที่เห็นตัวเลขในรายงาน
หลักฐานหนึ่งที่ชี้ให้เห็นกันมาตลอดจากประเทศต่างๆ คือ จำนวนการเสียชีวิตส่วนเกิน หรือ Excess mortality ที่มาจากทุกสาเหตุตลอดช่วงหลายปีของการระบาดนั้นมีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อนการระบาดอย่างมาก ทั้งแถบอเมริกา ยุโรป รวมถึงเอเชียอย่างสิงคโปร์ ก็เคยมีการวิเคราะห์ให้เห็นแล้วว่า จำนวนเสียชีวิตส่วนเกินที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยประเมินว่าการติดเชื้อน่าจะกระตุ้นให้โรคประจำตัวต่างๆ ที่ผู้ป่วยมีอยู่นั้นรุนแรงขึ้น หรือเป็นตัวกระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดการเจ็บป่วยจนนำไปสู่การเสียชีวิต
ณ ปัจจุบัน หากดูข้อมูลจาก Ourworldindata ภาพทั่วโลกชัดเจนว่ารายงานตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 และการเสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลง แต่จำนวนเสียชีวิตส่วนเกินสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้
นี่จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวัน เพราะตัวเลขที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น และสิ่งที่เป็นอยู่นั้นจะนำไปสู่ปัญหาเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของเราและสมาชิกในครอบครัว
แม้การรับวัคซีนครบเข็มกระตุ้นจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง แต่ไม่ได้การันตี 100% และประสิทธิภาพจะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป ความรู้ปัจจุบันดังที่เคยนำเสนอให้ทราบไปแล้วนั้นพบว่า หลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไป ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือราว 25-50% โดยงานวิจัยพบว่ายังคงอยู่ไปได้นานถึงอย่างน้อย 15 เดือน หากมีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพบปะผู้คนมาก การไปรับเข็มกระตุ้นซ้ำ ก็จะช่วยกระตุ้นภูมิให้สูงขึ้นได้ในช่วง 10-12 สัปดาห์ และจะลดลงไปตามเวลาเช่นกัน
ดังนั้น “การมีพฤติกรรมใส่ใจสุขภาพ และระมัดระวังป้องกันตัวควบคู่กันไปกับเรื่องวัคซีน จึงเป็นเรื่องจำเป็นเสมอ”
…อัปเดตความรู้โควิด-19
Moriyama M และคณะของ Prof.Iwasaki A จากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับโลก PNAS
สาระสำคัญคือ การชี้ให้เห็นว่า ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 นั้น สามารถยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ ประเภท CD8 T-cells ผ่านกลไกการยับยั้ง MHC-I expression นั่นแปลว่า การติดเชื้อโควิด-19 นั้น ไวรัสพยายามหาทางเอาตัวรอด โดยสามารถยับยั้งไม่ให้ภูมิคุ้มกันของเราไปทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ ทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงการทำลาย และสามารถเพิ่มจำนวนต่อไปในร่างกายได้ ซึ่งคณะผู้วิจัยเชื่อว่ากลไกนี้น่าจะเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่อธิบายการเกิดปัญหาอาการผิดปกติระยะยาวที่เกิดขึ้นในระบบต่างๆ ในร่างกายของผู้ป่วย Long COVID และน่าจะเป็นหนึ่งในหลักฐานที่สนับสนุนการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และ/หรือแอนติบอดี้ เพื่อยับยั้งหรือลดจำนวนไวรัสในร่างกายของผู้ติดเชื้อด้วย
…การติดเชื้อแต่ละครั้ง ไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย สงกรานต์นี้ ขอให้ระมัดระวัง ไม่ประมาท เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไปเยี่ยมเยียนผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ควรป้องกันตัวและป้องกันท่านให้ดี การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก มีความสุข…อย่างปลอดภัย
อ้างอิง
Moriyama M et al. Enhanced inhibition of MHC-I expression by SARS-CoV-2 Omicron subvariants. PNAS. 10 April 2023.