สธ. พบผู้ติดเชื้อโควิด XBB ทุกเขตสุขภาพหลังสงกรานต์ กรมแพทย์แนะตาแดงไข้สูงให้พบหมอ
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. เปิดเผยว่า หลังเทศกาลสงกรานต์พบว่าตัวเลขการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น แต่สถานการณ์ต่างๆไม่รุนแรง สธ.มั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี อย่างไรก็ตาม อีกช่วงที่ต้องจับตามองคือ ช่วงเปิดเทอม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของนักเรียนจำนวนมาก สธ.ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้หากพบว่าลูกหลานมีอาการไข้หวัด ก็ควรหยุดเรียน และมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน รวมทั้งเฝ้าระวังการระบาดในสถานศึกษา
ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่องและสายพันธุ์ XBB.1.16 ก็เป็นการผสมกันเองระหว่างโอมิครอนเพื่อต่อต้านภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่มีทั้งวัคซีนและภูมิคุ้มกันธรรมชาติ อาการจะหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันแต่ละคน และเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาขอแนะนำให้สังเกตอาการของตนเองว่าหากมีไข้สูง ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ ลักษณะคล้ายตาแดง มีผื่นคัน แนะนำให้แยกกักตัวเองก่อนอันดับแรก และควรไปพบแพทย์เพื่อคัดกรองโรคและรักษาให้หาย เพราะโรคโควิดขณะนี้ติดต่อง่ายขึ้น และยังหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี ไม่ว่าจะจากการฉีดวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ถ้าหากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบากให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาใน รพ.
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดในไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1-7 พ.ค. มีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด-19 จำนวน 372 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 323 ราย คิดเป็น 86.8% โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจสัปดาห์นี้ พบสายพันธุ์ลูกผสมมากกว่า 74% ในทุกเขตสุขภาพ ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งมีตัวอย่างส่งตรวจน้อย โดยพบมากที่สุดเป็น XBB.1.16 คิดเป็น 27.7% รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.5 คิดเป็น 22.0% ในขณะที่ BN.1 ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยช่วงสิ้นปี 2565 มีสัดส่วนลดลง ทั้งนี้ กรมวิทย์ได้ประสานขอให้ รพ.ทั่วประเทศส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทย์ และเครือข่ายยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ