ปลัด สธ. ร่วมประชุม FPGH หารือความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพโลก
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมกับ 7 ประเทศกลุ่ม FPGH หารือแนวทางความร่วมมือภายใต้หัวข้อ “กลับสู่สามัญ – การจัดการความท้าทายด้านสาธารณสุขโลกในบริบทของนโยบายต่างประเทศ” เสนอให้ ความเท่าเทียมด้านสุขภาพและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง การแบ่งปันข้อมูล และการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม FPGH ในการแสดงบทบาทนำในเวทีสาธารณสุขโลก เป็น 4 มิติหลักสำคัญในการรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพโลกในบริบทของนโยบายต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสมาชิกกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative : FPGH 7 ประเทศ ประกอบด้วย นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ เซเนกัล และไทย ซึ่งแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพในฐานะประธานกลุ่ม FPGH โดยการประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ในประเด็นสำคัญด้านสาธารณสุขภายใต้หัวข้อ “กลับสู่สามัญ – การจัดการความท้าทายด้านสาธารณสุขโลกในบริบทของนโยบายต่างประเทศ” (Back to the Basics – Towards Addressing Global Health Challenges in the Foreign Policy Space)
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงความสำคัญของการรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพโลกในบริบทของนโยบายต่างประเทศ และได้เสนอให้กลุ่ม FPGH คำนึงถึง 4 มิติหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1.สนับสนุนความเท่าเทียมด้านสุขภาพและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะช่วยรับประกันว่าประชาชนทุกคน รวมทั้งกลุ่มชายขอบและกลุ่มเปราะบางจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้ 2.การมีระบบสุขภาพของประเทศที่เข้มแข็ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด รวมถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุขระดับโลกที่เข้มแข็ง ทำให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพในแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนและเข้าร่วมกระบวนการการเจรจา Intergovernmental Negotiating Body (INB) เพื่อทำหน้าที่เจรจาอนุสัญญา ข้อตกลง หรือเครื่องมือระหว่างประเทศอื่น ๆ ขององค์การอนามัยโลก ในด้านการเตรียมความพร้อมและรับมือกับการระบาดของโรค และการแก้ไขกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2005
3. การแบ่งปันข้อมูลสำคัญระหว่างประเทศอย่างทันท่วงที เช่น การส่งต่อเชื้อก่อโรค ข้อมูลลำดับเบสในจีโนม รวมถึงการแบ่งปันวิธีการและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคของแต่ละประเทศ และ 4.ประเทศไทยยึดมั่นที่จะร่วมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม FPGH ในการแสดงบทบาทนำในเวทีสาธารณสุขโลก และการรวมพลังระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จตามความมุ่งหมายของ FPGH เพื่อบรรลุผลสำเร็จในการเจรจาและนำไปสู่การผลักดันข้อมติตามที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติต่อไป
นอกจากนี้ ได้หารือทวิภาคีกับ Dr.Chris Whitty หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (Chief Medical Officer) สหราชอาณาจักร ในประเด็นสำคัญ อาทิ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) และระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)