สธ. เผย กทม.-ปริมณฑล โควิดระบาดสูง พบคนติดเชื้อครั้งแรกมากขึ้น ยอดดับเริ่มลด กลุ่ม 608 ยังเสี่ยง
วันที่ 29 พ.ค. 66 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคโควิด 19 ว่า หลังจากที่ประเทศไทยประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่ ต.ค. 2565 และองค์การอนามัยโลกยกเลิกภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้แปลว่าโรคโควิด 19 จะหมดไปจากโลกนี้ แต่ความรุนแรงลดระดับลง การแพร่ระบาดไม่ได้รุนแรงแบบทั่วโลก จึงปรับมาตรการให้สอดคล้องกัน ส่วนประเทศไทยมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ มีการแจ้งเตือน และจัดเตรียมเวชภัณฑ์ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งคาดการณ์ว่าหลังช่วงสงกรานต์ ช่วงเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน อาจมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จากการติดตามตัวเลขทั่วโลกพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงระบาดใหญ่
“ข้อมูลที่เราสนใจ คือ ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ก็ยังเป็นไปตามคาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์จะมีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามี 42 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มี 60 กว่าราย ดูแนวโน้มอัตราเริ่มลดน้อยลง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตเป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ จากการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยา พบว่า คนอายุ 60 ปีขึ้นไปเมื่อป่วยมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า และอายุ 70 ปีขึ้นโอกาสเสียชีวิตมากกว่า 4 เท่า ปัจจัยสำคัญที่เสียชีวิตคือ เกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของ สธ. บางคนไม่ฉีดเลยสักเข็ม จากการกลัวผลข้างเคียง” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีนมีประโยชน์ช่วยลดการป่วยและเสียชีวิต ขอให้ลูกหลานพาผู้สูงอายุในบ้านไปฉีดวัคซีน แต่บางครั้งพบว่าลูกหลานคือคนที่กลัวผลข้างเคียง จึงขอย้ำว่าให้ฉีดวัคซีนประจำปี ซึ่งรณรงค์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้เคยฉีดเลยก็ไปฉีดได้ นอกจากนี้ คนที่ติดเชื้อและเสียชีวิตพบว่า มักติดเชื้อจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งไม่ได้ออกไปไหน แต่ลูกหลานที่มีกิจกรรมนอกบ้าน เมื่อติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการก็เอามาติด ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นมาตรการเร่งด่วนสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ฉีดเลยสักเข็ม ส่วนผู้ที่มีผู้สูงอายุในบ้าน หากตนเองมีอาการทางเดินหายใจไม่ควรเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอาย หรือใส่หน้ากากอนามัย จะช่วยลดความเสี่ยงผู้สูงอายุได้
สำหรับสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและจับตา คือ XBB.1.16 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทย แต่ความสามารถในการแพร่ระบาดไม่ได้สูงกว่าสายพันธุ์อื่นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความรุนแรงไม่ได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม แม้มีข่าวว่า รพ.บางแห่งบอกว่า ER โควิดเต็ม เตียงโควิดเต็ม อาจเป็นบาง รพ.ที่เต็ม เพราะลดระดับเตียงโควิดลง แต่ภาพรวมทั้งประเทศและ กทม. เตียงที่สำรองไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด อัตราใช้เตียงอยู่ที่ 22% ย้ำว่าเตียง บุคลากร ยามีความพร้อม อีกประเด็น คือ การติดเชื้อมีบางสถานที่ที่มีความเสี่ยง เช่น เรือนจำ เพราะมีคนอยู่แออัด และมีการเข้าออกสม่ำเสมอ แม้จะมีมาตรการกักตัว ก็ขอให้คงมาตการไว้ และจะประสานกับทางเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ ในการฉีดวัคซีนผู้ต้องขังผู้ต้องกักในเรือนจำต่างๆ
นพ.โอภาสกล่าวว่า การระบาดในเขต กทม.และปริมณฑลพบว่า มากกว่าเขตอื่นของประเทศไทย แม้ตัวเลขห่างไกลจากการระบาดมากๆ ช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องให้ความสนใจ คือ ผู้ป่วยอาการหนัก ขอให้กรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือประสานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด ทุกจังหวัด โดยเฉพาะเขตปริมณฑล ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด บูรณาการใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดำเนินการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กทม. ซึ่งเราไม่มี รพ.ของสำนักงานปลัด สธ. และ กทม.มี รพ.หลากหลายรวมทั้งเอกชน จึงเป็นหน้าที่ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ต้องช่วยดูแลจุดนี้ ซึ่ง สธ.ยินดีสนับสนุนเวชภัณฑ์ ข้อมูลต่างๆ ที่จะประสานเกี่ยวข้องกัน รวมทั้งขอให้สำรวจว่ามีผู้สูงอายุจำนวนเท่าไร ไม่ได้ฉีดวัคซีนเท่าไรแม้แต่เข็มเดียวขอให้เร่งรัดฉีดวัคซีน โดยกรมควบคุมโรคจะประสานจัดส่งวัคซีน ให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนประจำปี ประสานบูรณาการส่งต่อผู้ป่วย รพ.ไหนผู้ป่วยเต็ม ก็เป็นหน้าที่แต่ละจังหวัดบูรณาการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ที่ไม่เต็ม
เมื่อถามถึงอาการของการติดเชื้อในขณะนี้แตกต่างจากเดิมหรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นการติดซ้ำหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า อาการไม่แตกต่าง ยังคงเหมือนเดิม แต่คนอาการหนักเสียชีวิต คืออาการปอดบวม และระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก บางคนมีโรคแทรกซ้อน คือ โควิดหายแล้ว แต่โรคแทรกซ้อนอาจถูกกระตุ้นให้รุนแรงขึ้น ที่พบบ่อยคือ โรคไตวายเรื้อรัง ขอให้ใส่ใจระมัดระวังกลุ่มเหล่านี้ด้วย ส่วนระยะหลังมีทั้งติดครั้งแรกและติดซ้ำ ข้อสังเกต คือ คนยังไม่เคยติดเชื้อถือเป็นกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มหนึ่ง หลังๆ พบคนไม่เคยติดเชื้อก็ติดเชื้อครั้งนี้ครั้งแรกจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนจึงไม่ค่อยมีอาการ จากการสำรวจที่ผ่านมาคนไทย 97% มีภูมิต่อโรคโควิดแล้ว ทั้งจากการติดเชื้อธรรมชาติหรือการฉีดวัคซีน คนติดครั้งที่สองพบเพิ่มขึ้น แต่อาการน้อยถึงไม่มีอาการ บางครั้งติดเชื้อครั้งที่สามแต่ก็ยังน้อยอยู่
“ขณะนี้คงคล้ายโรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีการวิวัฒนาการ พอติดเชื้อคนก็มีภูมิต้านทาน เชื้อโรคก็พยายามปรับตัวอยู่ด้วยกัน อยู่ในช่วงสมดุลของคนกับเชื้อโรค มาตรการสำคัญคือฉีดวัคซีนตามคำแนะนำ สธ. อย่าไปกลัววัคซีนจนไม่ฉีด เรากลัวมาหลายปีแล้ว ถ้าจะใช้ชีวิตย่างปลอดภัยมากที่สุดก็ต้องฉีดวัคซีน” นพ.โอภาสกล่าว
ถามว่าบางแห่งวัคซีนรุ่นสองหมด นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีนยังมีเพียงพอ สามารถประสานมาที่กรมควบคุมโรคได้ วัคซีนทุกชนิดที่ขึ้นทะเบียนสามารถใช้ได้ วัคซีนรุ่นสองใช้ฉีดเข็มกระตุ้นหรือฉีดประจำปีไม่ได้ดีกว่ารุ่นเก่าอย่างมีนัยสำคัญมากนัก อาจดีกว่าบ้าง ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ยังแนะนำให้ฉีดด้วยวัคซีนทุกชนิดที่มีในมือได้ วัคซีนรุ่นสองก็มีสามารถไปขอฉีดได้ ย้ำว่าวัคซีนทุกชนิดมีความปลอดภัย สามารถเลือกฉีดได้ตามต้องการ