กรมการแพทย์ห่วง “สังคมสูงวัย” พบ! ผู้สูงอายุป่วยสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นทุกปี
กรมการแพทย์ห่วงสังคมสูงวัยพบผู้สูงอายุป่วยสมองเสื่อมมากขึ้นทุกปี แนะบริหารสมองป้องกันสมองเสื่อม พร้อมสื่อสารและพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้สูงอายุจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
วันที่ 20 ธ.ค. 2566 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยพบว่า หนึ่งในโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้สูงอายุ คือ โรคสมองเสื่อม สถิติผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคภาวะสมองเสื่อมปี 2565 มีผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมจำนวน 770,000 คน หรือประมาณร้อยละ 6 ของจำนวนผู้สูงอายุรวมทั้งประเทศ โดยสถิติพบว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม พบว่ามีจำนวนสูงขึ้นในทุกๆปี เฉลี่ยปีละหนึ่งแสนคน ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี
ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างมากทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ การดำเนินชีวิตของผู้ป่วย โดยเฉพาะกระทบต่อภาระในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมของครอบครัว อาการสมองเสื่อมคือภาวะที่มีการสูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพ โดยมีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม ซึ่งการบริหารสมองและหมั่นสังเกตความผิดปกติ หากพบการสูญเสียความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย จะสามารถชะลอโรคได้ถ้าพบในระยะแรก
กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพผู้สูงอายุซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อสังคม จึงมอบให้กรมการแพทย์ พัฒนารูปแบบการให้บริการการดูแลและรักษาด้านภาวะสมองเสื่อม รวมถึงโรคต่างๆ พร้อมทั้งการจัดประชุมสื่อสารและชี้แจงนโยบายสู่ผู้ปฏิบัติในระดับจังหวัด/โรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อสื่อสารและชี้แจงนโยบายการดูแลผู้สูงอายุให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยเน้นการขับเคลื่อนในเชิงบริหารจัดการทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุสำหรับผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพผู้สูงอายุ ในสถานพยาบาลทุกระดับ อันเป็นกลไกการบูรณาการที่ครบถ้วนทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ อย่างไร้รอยต่อ
แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุให้สำเร็จ คือการบูรณาการร่วมกันโดยทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือและดูแลตนเองได้ยาวนานที่สุด มีภาวะพึ่งพิงช้าที่สุด โดยอาศัยกลไกตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละกรม กอง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาแนวทางการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุ ส่งเสริมการเข้าถึง และเป็นมิตรต่อผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ในทุกระดับ เป็นการเน้นย้ำจุดมุ่งหมาย ในการร่วมมือร่วมใจกัน พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี
ตลอดจนวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุ ได้ส่งมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านผู้สูงอายุในทุกระดับสถานพยาบาล เน้นตัวแทนในเครือข่ายบริการ (CUP) ไปจนถึงระดับติดตามประเมินผล คือ สาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัด ครอบคลุมทุกจังหวัด นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการวิชาการ จากหน่วยงานสังกัดกรมการแพทย์ และกรมวิชาการต่าง ๆ อาทิเช่น ทันตกรรมไร้รอยต่อจากบ้านสู่หน่วยบริการ คลินิกสูงอายุคุณภาพของสถาบันประสาทวิทยา Refracture prevention โรคตาในผู้สูงอายุ คลินิกผิวหนัง On LINE 9 ข้อใส่ใจพระสงฆ์ไทยสูงอายุ ป้องกันภาวะหกล้มด้วยการก้าวเดินมั่นคง 9 ข้อ การป้องกันการพลัดตกหกล้ม สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ Blue Book Application เป็นต้น