“หมอยง” เผย โควิด JN.1 พบมากที่สุดตอนนี้ เตรียมขึ้นแท่นสายพันธุ์หลักในไทย
วันที่ 11 ม.ค. 67 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสเฟสบุ๊กถึงเรื่อง โควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากแล้วในขณะนี้ โดยระบุดังนี้
โควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากแล้วในขณะนี้
ยง ภู่วรวรรณ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
11 มกราคม 2567
ในที่สุด การคาดการณ์ว่าสายพันธุ์ JN.1 ที่ระบาดและติดต่อได้ง่าย ก็เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย
จากการศึกษาของศูนย์ไวรัส ถอดรหัสพันธุกรรม ในเดือนธันวาคม 14 ตัวอย่าง (ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่รอวิเคราะห์) ด้วยงบประมาณที่จำกัด พบว่าสายพันธุ์เด่นที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ JN.1 แล้ว หลังปีใหม่นี้สายพันธุ์ JN.1 จะเป็นสายพันธุ์หลัก หรือเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นสายพันธุ์ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมที่ผ่านมา
สายพันธุ์ JN.1 พบครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เป็นลูกของสายพันธุ์ BA.2.86 (Pirola ชื่อของดาวเคราะห์น้อย) เป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อื่นทั้งหมด
เป็นตามคาดหมาย สายพันธุ์นี้เข้ามาสู่ประเทศไทย เริ่มเด่นชัดในเดือนธันวาคมและแน่นอนหลังปีใหม่นี้ ก็น่าจะเป็นสายพันธุ์ JN.1 สายพันธุ์ใหม่ขณะนี้ยังไม่มีชื่อเล่น
ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 อาการไม่รุนแรง บางคนเพียงเป็นหวัด เจ็บคอเหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ติดต่อได้ง่าย เป็นแล้วก็สามารถเป็นอีก จึงทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังปีใหม่นี้ และคาดว่าผู้ป่วยจะเริ่มลดลงหลังเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ โดยจะลดลงอย่างมากในเดือนมีนาคม แล้วจะสงบลง จนไปถึงฤดูกาลใหม่ในเดือนมิถุนายนปีนี้
ขณะนี้ทางศูนย์ ได้ติดตามสายพันธุ์อยู่ตลอด เนื่องจากมีงบประมาณที่จำกัด จึงทำจำนวนได้ไม่มาก เพื่อเฝ้าระวังแนวโน้มสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังแสดงในรูป จะเห็นว่าสายพันธุ์เด่นในเดือนพฤศจิกายน เป็น HK3 แล้วเปลี่ยนเป็น JN.1 ในเดือนธันวาคม และในเดือนนี้สายพันธุ์ส่วนใหญ่จะเป็น JN.1 เพราะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น
ความรุนแรงของโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญที่ต้องศึกษาขณะนี้คือ ระบบภูมิต้านทานเดิมที่มีอยู่มีผลอย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ใหม่ โดยจะนำสายพันธุ์ใหม่ มาเพราะเชื้อขยายจำนวน แล้วทดสอบกับปฏิกิริยาภูมิต้านทาน ในคนไทย ที่ได้รับวัคซีนชนิดต่างๆ และการติดเชื้อที่ผ่านมา