เปิดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งแรก! ร่างกม.กัญชากัญชง ฉบับปรับปรุงยุค “ชลน่าน”
รมว.สธ. เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น ส่วน Online 9-23 ม.ค. 2567 ก่อนชงเสนอคณะรัฐมนตรี
วันที่ 12 ม.ค. 67 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากมี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกมา ให้อำนาจ สธ.ออกประกาศกำหนดส่วนต่างๆ ของกัญชาที่จะเป็นยาเสพติด จึงมีการออกประกาศสารสกัดกัญชา THC มากกว่า 0.2% ของน้ำหนักให้ถือเป็นยาเสพติด ขณะนี้กัญชา ต้น ราก ใบ ดอก ไม่ใช่ยาเสพติด หลังจากกฎหมายกัญชาก่อนหน้านี้ไม่ผ่านสภา ก็มีการยกร่างกฎหมายใหม่ เพราะว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะออกมารองรับ เพราะราก ต้น ใบ ดอก ไม่ใช่ยาเสพติด แต่มีสารเสพติดในตัว หากนำไปใช้ทางที่ผิด ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และนำมาสู่การรับฟังความเห็นในวันนี้
“เราไม่ได้มาจะปกป้องร่างนี้เข้าสู่สภา เราเปิดเต็มที่ ดูวันนี้ไม่พอ สามารถไปเขียนรายมาตราเลยจะปรับตรงไหนอย่างไรส่งมาได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำกฎหมาย ร่างกฎหมายฉบับนี้จัดทำเพื่อรองรับเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อบังคับใช้เกี่ยวกับกัญชงกัญชา เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เพื่อทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ เรารับฟังความเห็นไม่น้อยกว่า 15 วัน ก็จะจบงวันที่ 23 ม.ค. ก็จะเอาความเห็นมาสังเคราะห์หากต้องแก้ไขก็รีบทำ ตั้งใจจะส่ง ครม.ในเดือน ม.ค.นี้” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับเก่าที่ไม่ผ่านสภาและฉบับใหม่ หลักการไม่แตกต่างกัน คือ เพื่อการแพทย์สุขภาพ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ เมื่อกัญชาไม่เป็นยาเสพติดต้องมีกฎหมายมารองรับ เพื่อส่งเสริมใช้ทางการแพทย์ สุขภาพ และที่ต้องเขียนให้ชัด ทำอย่างไรไม่ให้เอากัญชากัญชง ต้น ราก ใบ ดอก ไม่ใช้ผิดประเภท ส่วนที่ต่างจากฉบับเก่า คือ ของเก่า 94 มาตรา ฉบับนี้มี 76 มาตรา เอาร่างเดิมมาปรับ อะไรที่มีข้อทักท้วงในสภาก็เอามาปรับ เช่น มาตรการควบคุมที่ไม่มั่นใจว่าจะควบคุมไม่ให้เยาวชนเกี่ยวข้องอย่างไร การปล่อยให้ปลูกโดยไม่ผ่านอนุญาตอนุมัติจะควบคุมได้หรือไม่ หรือร่างเดิมไม่ผ่านสภาถ้าจะปลูกในบ้าน 15 ต้น ไม่ต้องขออนุญาตแค่จดแจ้ง ฉบับนี้เขียนปลูกไม่ใช่การผลิต เขียนการปลูกแยกการผลิตเป็นการเฉพาะ ซึ่งการขออนุญาตปลูกเราแบ่งระดับไว้ คือ ไม่เกิน 5 ไร่เป็นทั่วไป 5-20 ไร่ ขนาดกลาง และมากกว่า 20 ไร่ – 400 ไร่ เป็นขนาดใหญ่อุตสาหกรรม เขียนระดับการอนุญาตเอาไว้
อย่างที่สองคือ มีความชัดเจนในการเขียนคำนิยาม คือ คำว่าสันทนาการ ฉบับเดิมไม่มี ฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าจะป้องกันไม่ให้เอาไปใช้ผิดประเภท พฤติกรรมใช้สันทนาการสุ่มเสี่ยงใช้ผิดประเภทเลยระบุเอาไว้ ทั้งนี้ เมื่อมีการบังคับใช้ให้ขออนุญาต ต้องมีบทกำหนดโทษก็เขียนชัด เช่น คุ้มครองบุคคลเพื่อไม่ให้ใช้กัญชาผิดประเภท หากเปิดร้านกัญชาผิดสถานที่ที่เรากำหนดก็มีโทษ บุคคลที่เข้าร้านกำหนดว่าห้ามคนเหล่านี้เข้าก็ถือว่าผิด ทั้งคนเปิดร้านและคนเสพ กฎหมายเอาทั้งสองกรณี ไม่ห้ามเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ห้ามเปิดร้าน ห้ามเสพด้วย โทษบางอย่างเราเห็นว่าไม่ต้องเขียนหนักก็เขียนให้เหมาะสมกับบริบทกับกฎหมายอาญาทั่วไป บางอย่างก็หนักขึ้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า กระทรวงได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์ทางการแพทย์ การร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นำพืช กัญชามาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนให้ความสนใจ และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพได้อย่างปลอดภัย และสามารถต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมาย และจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 300 – 500 ราย เข้ามามีส่วนร่วมในกฎหมายฉบับนี้
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แตกต่างจากร่างที่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวบรวมรายชื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้มาจากร่างของกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา ดังนี้ 1) จำนวนมาตรา จาก 94 มาตราเหลือเพียง 76 มาตรา 2) เปลี่ยนผู้อนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็น อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 3) การเพาะปลูกกัญชากัญชง ต้องขอใบอนุญาตเท่านั้น ไม่มีการขอจดแจ้งการเพาะปลูก 4) ห้ามบริโภคกัญชาเพื่อการสันทนาการแม้กระทำเพียงคนเดียวก็มีโทษอาญา 5) ไม่มีบทกำหนดเขตสูบกัญชาไว้เป็นการเฉพาะ และที่สำคัญ 6) ใบอนุญาตจำหน่ายและแปรรูป ส่งออก และศึกษาวิจัย สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจะยังสามารถใช้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ฉบับนี้ขึ้น โดยให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในมาตรา 26 มาตรา 28 มาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 40 ทั้งนี้เพื่อการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ
นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เวทีแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….. เป็นเครื่องมือในการรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง นำเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำกฎหมาย กำกับ ดูแล กัญชา กัญชง เป็นการเฉพาะ ซึ่งจะสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวันนี้ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งในรูปแบบ On site และ On Line ซึ่งจะมีการแสดงความคิดเห็นตามรายมาตราเพื่อสรุปเป็นประเด็น และเมื่อพ้นจากวันนี้แล้ว ยังสามารถเข้าแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.dtam.moph.go.th ไปจนถึงวันที่ 23 มกราคม 2567 เมื่อผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น 15 วัน ตามกฎหมายแล้ว จะทำสรุปผลการรับฟังความเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ….ให้สอดคล้อง เหมาะสม ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความคิดเห็นต่อไป
สำหรับนิยามตามมาตรา 4 สันทนาการ คือ การกระทำเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจ ทั้งนี้ เราเปิดรับฟังความคิดเห็นเต็มที่เพื่อเอาเข้ามาปรับ ร่างยังไม่ถือว่าเสร็จสมบูรณ์ ผ่านกระบวนการนี้ เอาเนื้อหาไม่เห็นด้วยมาประกอบปรับแก้ก่อนเสนอ ครม. พอเข้า ครม.จะพิจารณาว่ารับหรือไม่รับร่างนี้ หากรับก็จะส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ซึ่งใช้เวลาพอสมควร พอเรียบร้อยส่งกลับมา ครม. เมื่อเห็นชอบก็เสนอเข้าสู่สภาฯ ผู้ประกอบการ คนมีส่วนได้ส่วนเสียก็สามารถเสนอความเห้นให้แก่ ส.ส.ที่เป็นผู้อทน เพื่อปรับแก้ในชั้นนี้ได้อีก ผ่านแล้วเข้าวุฒิสภา หากทั้งสองสภาเห็นด้วยโดยกรรมาธิการก็เสนอโปรดเกล้าฯ ออกมาเป้นกฎหมายบังคับใช้