โฆษก กทม. เผย สาเหตุค่าฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. สูงเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบสุขภาพ
โฆษก กทม. เผยถึงสาเหตุที่ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนกรุงฯ
วันที่ 5 ก.พ. 67 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสาเหตุที่ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สูงขึ้น จนเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มและสีแดง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ว่า ปัจจัยหลักที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ สูงขึ้น คือ ฝุ่นจากภายนอกกรุงเทพฯ และจากภายนอกประเทศ ซึ่งจากรายงานเกิดจากการเผา โดย 84% ของวันที่เกิน 37.5 มคก.ลบ.ม. ตรงกับวันที่พบการเผาในกัมพูชาเกิน 1,000 จุด และ 100% ของวันที่เกิน 50 มคก.ลบ.ม. ตรงกับวันที่พบการเผาในกัมพูชาเกิน 1,000 จุด
ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในปี 2566 ตรวจพบจุดเผาในประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 25,856 จุด และในปี 2567 เพิ่มเป็น 49,983 จุด มากขึ้นถึง 93% ส่วนในประเทศพบจุดเผาในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยปี 2566 พบจุดเผา จำนวน 5,981 จุด และในปี 2567 ลดลงเหลือ 3,252 จุด ลดลง 46% ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ 2566 พบจุดเผา เพียง 6 จุด ส่วนปี 2567 พบจุดเผา 1 จุด ลดลง 83%
นอกจากนี้ ยังพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าฝุ่นจากเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดิน ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่จตุจักร เทียบกับเครื่องตรวจวัดเสาสูงระดับ 110 เมตรที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดินสูงกว่า 50 มคก.ลบ.ม. เท่ากับมีโอกาส 71% ที่ค่าฝุ่นของของเครื่องตรวจ 110 ม. จะสูงกว่าอย่างมีนัยยะ (มากกว่า 10 มคก.ลบ.ม.) และเมื่อค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดินต่ำกว่า 37.5 มคก.ลบ.ม. เท่ากับมีโอกาส 80% ที่ 1.ค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับ 110 ม. จะตํ่ากว่า หรือ 2.ค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับ 110 ม. จะสูงกว่าอย่างไม่มีนัยยะ (ในอัตราที่น้อยกว่า 5 มคก.ลบ.ม.)
อย่างไรก็ตาม จุดความร้อน (Hot Spot) คือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก ซึ่งส่วนมากก็คือความร้อนจากไฟ แสดงในรูปแบบแผนที่เพื่อนำเสนอตำแหน่งที่เกิดไฟในแต่ละพื้นที่แบบคร่าวๆ การได้มาซึ่งข้อมูลจุดความร้อนอาศัยหลักการที่ว่า ดาวเทียมสามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟราเรดหรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ (อุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส) บนพื้นผิวโลก จากนั้นจะประมวลผลแสดงในรูปแบบจุด ซึ่งต้องขอบคุณข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา GISTDA และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์