สสส. เผยปี 64 พบผู้ป่วยจิตเวชพุ่ง 2.3 ล้านคน จากปี 58 เพียง 1.3 ล้านคน
กรมสุขภาพจิต-สสส.ลงนาม MOU สร้างเครือข่ายนวัตกรด้านสุขภาพจิต ห่วง! ปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทย มีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น ปี 2564 มีมากถึง 2.3 ล้านคน พบภาวะซึมเศร้าสูงขึ้น ดึง ThaiHealth Academy ออกแบบหลักสูตร MIND to the MOONs บ่มเพาะนวัตกรสุขภาพจิต
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 67 ที่ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. (สำนัก 2) สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ภายใต้ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันโค้ชไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) “พัฒนาหลักสูตรและการดำเนินการบ่มเพาะเร่งรัดนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนทางสุขภาพจิต”
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในสังคม หัวใจหลักคือ การเข้าใจปัญหา และข้อมูลเชิงลึก โดยกรมสุขภาพจิตจะนำข้อมูล ประสบการณ์ และกระบวนการทำงานมาออกแบบหลักสูตร ร่วมกับ ThaiHealth Academy สร้างโอกาสพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพจิต ทำให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมสุขภาพจิตเกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เป็นรากฐานสำคัญในการรับมือปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทย ให้ผู้ที่เข้าร่วมไม่เพียงแต่มีความรอบรู้ แต่นำความรอบรู้ไปสร้างเป็นนวัตกรรม ที่จับต้องได้ ขยายผลลัพธ์และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างหันมาสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตด้วยกัน ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในสังคมนั้น หัวใจหลักที่สำคัญคือการเข้าใจปัญหาและข้อมูลเชิงลึกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2564 พบผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีผู้ป่วยเพียง 1.3 ล้านคน สสส. มีเป้าหมายให้คนในสังคมมีสุขภาพจิตดี สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติฉบับที่ 1 มุ่งเน้นการสร้างเสริม และป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ก่อนที่จะเจ็บป่วย ซึ่งความร่วมมือ MOU ครั้งนี้เป็นมิติใหม่ด้านสุขภาพจิต สสส. โดย ThaiHealth Academy ออกแบบหลักสูตรในโครงการบ่มเพาะนวัตกรด้านสุขภาพจิต (MIND to the MOONs) หลักสูตร
– อบรมด้วยกระบวนการคิดแก้ไขปัญหา (Design Thinking)
– นำแนวคิดสร้างให้เกิดประโยชน์ (Service Design)
– ทักษะเป็นผู้ฟังที่ดี (Active Listening)
– ทักษะทางการคิด (Cognitive)
– เครื่องมือเจาะใจลูกค้า (Empathy)
สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจสร้างนวัตกรรมสุขภาพจิต ถือเป็นการสร้างเครือข่ายนวัตกร ร่วมพัฒนาศักยภาพ สร้างทักษะกระบวนการ คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ออกแบบนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ปัญหาด้านสุขภาพจิต ผู้เข้าร่วมอบรมมีโอกาสนำเสนอนวัตกรรมที่ออกแบบ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปขยายผลใช้ได้จริง
“สสส. และภาคีเครือข่าย มุ่งลดเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว ผลักดันนโยบาย สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้ประชาชนทุกช่วงวัย สร้างเครือข่ายในพื้นที่ ควบคู่การสื่อสารสาธารณะ โดยมีนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตที่สำคัญ เช่น โครงการ “สุขเป็น” นวัตกรรมสร้างกลไกพัฒนาแกนนำชุมชนเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต แอปพลิเคชัน MIND นวัตกรรม AI คัดกรองซึมเศร้า “Home Coming พาใจกลับบ้าน” และนวัตกรรมเรียนรู้ผ่านงานศิลปะ Soul Connect Fest 2023 นวัตกรรมสร้างภูมิคุ้มใจ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
นพ.พงศ์เทพ เสริมด้วยว่า การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน ตัวบุคคลในพื้นที่หรือชุมชน ก็มีส่วนสำคัญ หากคนในชุมชนร่วมมือกันตั้งแต่การดูแลเด็กให้มีสุขภาวะที่ดี ชุมชนหล่อหลอมให้เด็กมีจิตอาสา มีซอฟต์สกิลในการสื่อสาร ตลอดจนสร้างสังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน ร่วมดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าหรือรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง นำไปสู่การรักษาผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตเวช จะช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนได้ หากคนในชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน เป็นวัคซีนทางใจที่สำคัญ จะก่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง มีสุขภาวะทางจิตที่ดี
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากนโยบายในการสนับสนุนโดยท่านอธิบดีกรมสุขภาพจิตการสร้างนวัตกรรมจะไม่เป็นระยะสั้น หรือเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่การพัฒนาตั้งแต่ฐานราก คือมองไปถึงการสร้างนวัตกรรมแบบยั่งยืน โดยพัฒนาตั้งแต่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการคิด การสร้างนวัตกรรม และหนุนเสริมให้ประชาชนที่สนใจก็มีความรอบรู้ในการสร้างนวัตกรรมสุขภาพจิตด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้นวัตกรรมด้านสุขภาพจิตเกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั่วประเทศ
“ใน 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เช่น พูดคนเดียว หวาดระแวง หรือใช้สารเสพติด มีเพิ่มมากขึ้น เด็กมีภาวะซึมเศร้าตั้งแต่อายุน้อย ๆ จะเห็นได้จากข่าว เด็กตัดสินใจกระโดดจากที่สูงเพื่อทำร้ายตัวเอง มีปัญหารุมเร้า ทั้งปัญหาครอบครัวและการเรียน ด้านกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้นโยบายโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลในอำเภอใหญ่ ๆ มีคลินิกจิตเวช เพื่อดูแลปัญหาสุขภาพจิต หรือแม้แต่ผู้ที่ใช้ยาเสพติด ก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้เช่นกัน” พญ.มธุรดา กล่าว
ศ.ดร.นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการ ThaiHealth Academy กล่าวว่า นวัตกรด้านสุขภาพจิต คือ บุคคลที่มีความมุ่งมั่น และมีเป้าหมายที่จะแสวงหาวิธีการส่งเสริมสุขภาพจิต รวมตัวกันขึ้นมาเป็นทีมพัฒนานวัตกรรม และสมัครเข้าร่วมในโครงการ ทั้งนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกกว่า 60 คน โดย ThaiHealth Academy ได้ร่วมสร้างหลักสูตรที่โดดเด่นถึง 4 หลักสูตร คือ
– หลักสูตรกระบวนกรนวัตกรรมสุขภาพจิต (MIND Navigator)
– หลักสูตรพื้นฐานนวัตกรสุขภาพจิต (Into the MIND)
– หลักสูตรบ่มเพาะนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (MIND to the MOONs)
– หลักสูตรที่ปรึกษานวัตกรรมสุขภาพจิต (MIND Supervisor)
หน่วยงานที่ร่วม MOU ครั้งนี้ เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างนวัตกรรม รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพ มาร่วมเสริมทัพทีมวิทยากรตลอดโครงการ ผู้เข้าร่วมจะได้ฝึกประสบการณ์ตรงเป็นนวัตกรสุขภาพจิตในรูปแบบ Workshop และ Job Training แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภาคีเครือข่าย โดยระยะเวลาอบรมทั้งสิ้น 6 เดือน ทั้งนี้หลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพ ThaiHeath Academy มีอีกกว่า 50 หลักสูตร ทั้งแบบ Online และ Onsite เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพ ภาคีเครือข่าย องค์กร หน่วยงานภาครัฐ สนใจ ติดต่อได้ที่ www.thaihealthacademy.com หรือ โทร 02-171-8656