กรมวิทย์ฯ เผยโควิดสายพันธุ์ JN.1 เพิ่มขึ้น อาจเป็นสายพันธุ์หลักในไทย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัพเดทโควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 และลูกหลาน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบแล้วเกือบทุกเขต อาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักในระดับประเทศ พร้อมเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ เพื่อวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรค
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือโควิด 19 ว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังคงให้ความสำคัญกับการติดตามสายพันธุ์โอมิครอน จำนวน 10 สายพันธุ์ ได้แก่
สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 5 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5*, XBB.1.16*, EG.5*, BA.2.86* และ JN.1*
ส่วนสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ DV.7*, XBB*, XBB.1.9.1* XBB.1.9.2* และ XBB.2.3*
ทั้งนี้ สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลาง GISAID รอบสัปดาห์ที่ 52 (วันที่ 25 ธันวาคม ถึง 31 ธันวาคม 2566) สายพันธุ์ในกลุ่ม VOI ที่พบมากที่สุด ได้แก่ JN.1* ในสัดส่วน 65.5% ถัดมาคือ EG.5* 16.6% โดย EG.5* มีอัตราการพบที่ค่อย ๆ ลดลง แต่ในขณะที่ JN.1* มีอัตราการพบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 28 วัน และจากความได้เปรียบในการเติบโตและคุณลักษณะหลบภูมิคุ้มกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า JN.1* จะเพิ่มมากขึ้นและจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในระดับประเทศหรือทั่วโลก ในขณะที่สายพันธุ์ในกลุ่ม VUM ที่พบมากที่สุด ได้แก่ XBB.1.9.1* ในสัดส่วน 1.8% และ DV.7* ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกัน คือ L455F และ F456L มีอัตราการพบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากฐานข้อมูลกลาง GISAID มีรายงานการพบสายพันธุ์ DV.7* ทั่วโลกจำนวน 5,275 ราย โดยปัจจุบันยังไม่พบมีรายงานการเพิ่มความรุนแรงของโรค
นพ.ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสถานการณ์สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคม 2566 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2* เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยแทนที่ XBB.1.16* จนกระทั่งต้นปี 2567 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2* เริ่มลดลง ในขณะที่ JN.1* มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด ณ ปัจจุบัน โดย JN.1* มีสัดส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 สะสมนับตั้งแต่เริ่มพบครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 2566 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึงปัจจุบัน คิดเป็น 6.66% (อ้างอิงจากฐานข้อมูล GISAID และข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ ฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอยู่ระหว่างการดำเนินการเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID)
ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2566 – 23 มกราคม 2567 จำนวน 234 ราย
– พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ลูกผสมกระจายทุกเขตสุขภาพ โดยสายพันธุ์ JN.1* พบสัดส่วนมากที่สุดเป็น 33.5% ถัดมาคือ EG.5* (สายพันธุ์ย่อยของ XBB.1.9.2*) เป็น 27.5%, BA.2.86* เป็น 21%, XBB.1.16* เป็น 7.3% (เขตสุขภาพที่ยังไม่พบ JN.1* ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 8, 9 และ 10 ส่วนเขตสุขภาพที่ 3 ไม่มีตัวอย่างทดสอบ)
– ในช่วงปลายปี 2566 สายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยยังคงเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2* โดยมีสัดส่วนลดลง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2566 และมกราคม 2567 ดังนี้ 51.9%, 34.7% และ 28.2% ตามลำดับ
– สัดส่วนของ BA.2.86* เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2566 และมกราคม 2567 ดังนี้ 11.4%, 21.8% และ 22.3% ตามลำดับ เช่นเดียวกับ JN.1* มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2566 และมกราคม 2567 ดังนี้ 2.2%, 20.3% และ 43.7% ตามลำดับ
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยการรวบรวมตัวอย่างผลบวกเชื้อก่อโรคโควิด 19 จากการทดสอบ ATK หรือ Real-time RT-PCR จากทั่วประเทศ และเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ มีความสำคัญและจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ให้ทราบอุบัติการณ์แนวโน้มการระบาดใหญ่ การกลายพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรค ได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์” นพ.ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย