ภาคประชาชน หารือ สปสช. ตั้งหน่วยบริการสาธารณสุข หวังฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด
ภาคประชาชน หารือ สปสช. ขอเป็นหน่วยบริการสาธารณสุข ดูแลฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและป้องกันอันตรายจากยาเสพติด ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมหารือความร่วมมือการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้ติดยาเสพติด ร่วมกับสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนเครือข่ายด้านยาเสพติดจากภาครัฐ ภาคประชาชน องค์กรศาสนา และภาคเอกชน เข้าร่วม
สำหรับประเด็นสำคัญของการประชุม มุ่งเน้นที่การหารือเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบและกลไกที่ใช้สำหรับบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รวมถึงหารือเพื่อพัฒนาบริการที่ลดอันตรายจากยาเสพติด จากการร่วมกันวางแผนพัฒนาการบำบัดฟื้นฟูของเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรเอกชน และองค์กรศาสนา เพื่อให้ภาคประชาชนและประชาสังคมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ให้สามารถจัดตั้งเป็นหน่วยบริการด้านฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในรูปแบบสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเพิ่มเติมตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในภาพรวมว่า กรอบแนวคิดการบำบัดผู้ใช้ยาสารเสพติดใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 เป็นการปฏิรูปการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับนโยบาย ซึ่งในกฎหมายดังกล่าวมีแนวทางป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยให้ใช้การสาธารณสุขนำเพื่อลดการใช้ยาเสพติด รวมถึงให้มีการบริหารจัดการแนวใหม่ ที่ใช้หลักการผู้เสพคือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเพื่อให้สังคมเห็นว่ายาสารเสพติดเป็นปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เพราะหากนำผู้เสพเข้าสู่การบำบัดของรัฐ แต่ขาดการกำกับติดตามผลจากการบูรณาการของภาคสังคมในลักษณะแบบช่วยเหลือรายบุคคล ก็มีความเสี่ยงและโอกาสที่ผู้เสพจะกลับไปเสพยาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาคประชาชน ประชาสังคม หรือองค์กรต่างๆ จากการทำงานหารือร่วมกันก็พบว่าภาคส่วนเหล่านี้มีศักยภาพพอที่จะเข้ามาเสริมบริการสุขภาพในรูปแบบหน่วยบริการ ตามมาตรฐานการบำบัดดูแลผู้เสพยาสารเสพติด ทั้งการค้นหาคัดกรองและชักชวนให้สมัครใจบำบัดโดยไม่ใช้กระบวนการยุติธรรม พร้อมกับสามารถติดตามช่วยเหลือทางสังคมต่อไปเพื่อป้องกันการเสพซ้ำ ซึ่งอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ประกาศใช้ไปแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีภาคชุมชนได้รับการสนับสนุนเพื่อให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการช่วยเหลือบำบัดผู้ติดยาเสพติดมากนัก
“ขณะเดียวกัน ผู้เสพหรือผู้ใช้สารเสพติดที่ต้องการสมัครใจบำบัด ก็อาจไม่สบายใจที่จะเข้าสู่กระบวนการของรัฐ เพราะเรื่องกฎหมายด้วย จึงทำให้กระบวนการบำบัดอย่างสมัครใจตามกฎหมายไม่เป็นรูปธรรม ดังนั้นภาคประชาชนจึงเข้ามาหา สปสช. เพื่อหารือในการให้ภาคส่วนเหล่านี้เข้ามาเป็นหน่วยหนุนเสริมการบำบัดและฟื้นฟูในรูปแบบบริการสาธารณสุข” นายชาญเชาวน์ กล่าว
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชนนี (สบยช.) กล่าวถึงการผลักดันนโยบายด้านสุขภาพโดยกลไกการมีส่วนร่วมว่า การแก้ปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจรต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะการบำบัดผู้ใช้ยา สารเสพติด จะต้องรวมถึงการคัดกรอง การประเมินความรุนแรง การบำบัดด้วยยา การฟื้นฟูสมรรถภาพ การลดอันตรายจากยาเสพติด และการติดตามหลังการบำบัด ซึ่งตามหลักการบำบัดที่ได้ผลและเป็นมาตรฐาน คือต้องใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงมีการบริการสุขภาพจากหน่วยบริการที่เป็นมาตรฐาน เพราะอาจต้องมีบริการลดอันตรายจากยาเสพติดสำหรับผู้เสพด้วย โดยเฉพาะการใช้ยาเพื่อลดอันตราย
อย่างไรก็ตาม ในแนวทางการจัดตั้งสถานบริการสาธารณสุขด้านยาเสพติดที่เกิดในชุมชน ก็อาจเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือการบำบัดได้ ซึ่งภาคประชาชน หรือผู้นำชุมชนที่มีโอกาสจัดตั้งสถานบริการสาธารณสุข ขึ้นมาดูแลด้านนี้เฉพาะ ก็จะเป็นอีกหนึ่งกำลังในการเข้าไปหนุนเสริมสถานบำบัดของภาครัฐ ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และของกองทัพที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ หรืออาจจะดีกว่าเพราะชุมชนเข้าใจผู้เสพที่อยู่ในชุมชนด้วยกันดี และผู้เสพก็อาจเชื่อถือกับผู้นำในชุมชนมากกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ
สำหรับในส่วนภาคประชาชนที่เข้าร่วมหารือ ได้แสดงความคิดเห็น และเห็นพ้องกันว่า ภาคประชาชน สามารถเข้าไปช่วยเหลือการบำบัดได้ โดยเฉพาะกับบริการลดอันตรายจากสารเสพติด โดยสามารถคัดกรองการถูกตีตรา การให้คำแนะนำและฝึกทักษะในการจัดการการถูกตีตรา รวมถึงสนับสนุนช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรม และบริการครอบครัวทั้งการให้ความรู้ ให้คำปรึกษา การเยียวยา และสุขภาพจิตของสมาชิกรายอื่นในครอบครัวของผู้เสพ
อีกทั้ง ในแง่กลุ่มก้อนเฉพาะด้านของบริการลดอันตรายจากสารเสพติด ซึ่งแนวทางของกลุ่มประเทศในยุโรป ที่ดูแลโดยภาคประชาชน ก็มีการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสารและการใช้สาร ทั้งชนิด ผลที่ต้องการ ผลที่ไม่ต้องการ ช่องทางการใช้ ขนาด ความถี่ และอุปกรณ์ รวมไปถึงการจ่ายสารทดแทนระยะยาวในชุมชน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการลด ละ เลิกใช้ด้วยความสมัครใจ ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาคประชาชนในประเทศไทยก็มีศักยภาพพอที่จะทำได้ หลังจากมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ในประเทศร่วมกันกับหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของการประชุมหารือ ที่ประชุมเห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทยในการยกระดับภาคประชาชนเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขเพื่อเข้ามาดูแลบำบัดผู้ใช้ยา สารเสพติดในประเทศ จึงเห็นควรว่าต้องนำเสนอประเด็นดังกล่าวเพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน สปสช.จะนำเรื่องไปพิจารณาเพื่อศึกษาให้มีโครงสร้างกลไกจากภาคประชาชนเข้ามาร่วมให้บริการสาธารณสุข แต่ต้องอยู่ในกรอบของ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่ต้องไม่ขัดและสอดรับกับกฎหมาย เพื่อให้พิจารณากันต่อไปว่าภาคประชาชนสามารถเป็นหน่วยบริการลักษณะดังกล่าว และได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในการดูแลประชาชนได้หรือไม่ด้วย
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ภาคประชาชนมีความสนใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในรูปแบบการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งไม่ใช่การออกมาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา เพราะมีความเชื่อว่าหากใช้กลไกของรัฐบาล และโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียวอาจแก้ปัญหาผู้ใช้ยาเสพติดในสังคมไม่ได้ จึงเข้ามาหารือกับ สปสช. ในการพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้ภาคประชาชนจัดตั้งเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขขึ้นมาเพื่อดูแลผู้ใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกัน และดูในกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งก็พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นสถานบริการสาธารณสุขในระบบ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูความชัดเจนเกี่ยวกับบริการต่างๆ ที่จะให้ภาคประชาชนดำเนินการจากกระทรวงสาธารณสุข เพราะรูปแบบการให้บริการสาธารณสุข ในรูปแบบการดำเนินการโดยองค์กรภาคประชาชน หรือหน่วยงานอื่นที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอาจกำหนดเพิ่มเติมนั้น จะต้องมีการกำกับ กำหนดกรอบการให้บริการอย่างชัดเจน เช่น บริการใดบ้างที่ทำได้ หรือทำไม่ได้ และเป็นชุดสิทธิประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง หากมีความชัดเจน สปสช. ก็พร้อมจะพิจารณาให้ภาคประชาชนมาเป็นหน่วยบริการในระบบต่อไป