“คลินิกเทคนิคการแพทย์” มั่นใจระบบเบิกจ่าย สปสช. ร่วมให้บริการ “30 บาท รักษาทุกที่ฯ” มากขึ้น
นายกสภาเทคนิคการแพทย์ เผย “คลินิกเทคนิคการแพทย์” มั่นใจระบบเบิกจ่าย สปสช. สมัครร่วมบริการ “30 บาท รักษาทุกที่ฯ” มากขึ้น พร้อมยกระดับบริการ “เจาะเลือดผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่บ้าน” เพิ่มความสะดวก ไม่ต้องเคลื่อนย้าย ลดค่าเดินทาง
วันที่ 11 พ.ค. 2567 ทนพ. สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่จดทะเบียนทั่วประเทศประมาณ 800 แห่ง และในจำนวนนี้ได้สมัครลงทะเบียนร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิแล้วประมาณ 90 แห่ง และคาดว่าจะมีคลินิกเทคนิคการแพทย์ทยอยสมัครเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ที่มีคลินิกเทคนิคการแพทย์ร่วมเป็นหน่วยบริการไม่มาก เนื่องจากคลินิกเทคนิคการแพทย์อาจไม่มั่นใจว่า เมื่อเข้าเป็นหน่วยบริการในระบบกับ สปสช. แล้วจะได้รับชดเชยค่าบริการอย่างไร ล่าช้าหรือไม่ อีกทั้งยังไม่มั่นใจด้วยว่าโรงพยาบาลแม่ข่าย จะส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) มาให้กับคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เป็นลูกข่ายเพื่อทำการตรวจหรือไม่ด้วย เพราะการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลมารับบริการที่หน่วยบริการนอกโรงพยาบาลถือเป็นนวัตกรรมบริการรูปแบบใหม่
อย่างไรก็ตาม จากที่สภาเทคนิคการแพทย์ได้หารือและประสานการทำงานร่วมกันกับ สปสช. อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นสร้างความมั่นใจให้กับคลินิกเทคนิคการแพทย์ทั่วประเทศที่จะเข้าร่วม โดยเฉพาะการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ รวมถึงการบริหารจัดการด้านต่างๆ ก็ทำให้คลินิกเทคนิคการแพทย์ในกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการเพิ่มมากขึ้น
ทนพ.สมชัย กล่าวว่า นอกจากการร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. ที่ให้บริการตรวจแล็บตามชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองฯ ที่ครอบคลุมการเจาะเลือด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ – อุจจาระ เพื่อประโยชน์ทางการวินิจฉัยของแพทย์ การติดตามการรักษา การพยากรณ์โรคแล้วนั้น ขณะนี้สภาเทคนิคการแพทย์ได้ร่วมกับ สปสช. ในการให้บริการเจาะเลือดผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่มีภาวะติดบ้านติดเตียงด้วย โดยมีนักเทคนิคการแพทย์เข้าไปเจาะเลือดให้ผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งช่วยให้ลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและลดค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วยด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ที่เข้ามาเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการให้มากขึ้นด้วย
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการได้โดยสะดวก สปสช. จึงได้ร่วมมือกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์ในการดึงสถานพยาบาลภาคเอกชนแต่ละสาขาให้เข้ามาร่วมให้บริการในระบบบัตรทอง ภายใต้ “หน่วยบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” โดยคลินิกเทคนิคการแพทย์จะเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยในระบบเข้ารับการตรวจทางห้องแล็บได้โดยสะดวก และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกด้วย
ทั้งนี้ผู้ป่วยบัตรทองสามารถเข้ารับบริการคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามชุดสิทธิประโยชน์ 24 รายการ ได้แก่ 1. บริการเจาะเลือดสำหรับผู้ป่วยนอก รวม 22 รายการ ซึ่งต้องมีใบสั่งตรวจแล็บจากหน่วยบริการที่ดูแล อาทิ การตรวจความเข้มข้นของเลือด การตรวจปัสสาวะ-อุจาระ การตรวจวัดระดับน้ำตาล การตรวจการทำงานของตับ-ไต รวมถึงบริการตรวจไวรัสตับอักเสบชนิดบี เป็นต้น 2.บริการที่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2 รายการ ไม่ต้องมีใบสั่งตรวจแล็บ คือ บริการตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์หรือบริการชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง และบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (กลุ่มเป้าหมายอายุ 50-70 ปี) สำหรับประชาชนตามกลุ่มเป้าหมายทุกสิทธิการรักษาพยาบาล
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ในส่วนคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขและและผ่านการพิจารณาคุณสมบัติการเข้าร่วมให้บริการจากสภาเทคนิคการแพทย์ ก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่คอยตอบทุกคำถาม แลยะพร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน
“หากคลินิกเทคนิคการแพทย์เข้าร่วมเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่นมากขึ้น ก็จะช่วยให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจแล็บ แต่สามารถไปยังคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้านได้เลย ซึ่งเมื่อรับบริการตรวจแล็บแล้ว ผลการตรวจก็จะส่งกลับไปยังโรงพยาบาลให้กับแพทย์ที่ดูแล ใช้ในการวินิจฉัยโรค หรือทำการรักษาต่อไป อีกทั้ง โรงพยาบาลก็จะลดภาระงานในส่วนนี้ออกไปได้ด้วย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว