ยืนยัน “เครื่องล้างไตอัตโนมัติ” อยู่ในบัตรทอง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย-ไม่เสียค่าใช้จ่าย
สปสช. เผยหลังประชาชนสอบถาม 1330 สนใจการล้างไตด้วยเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ยันเป็นสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทอง 30 บาท ไม่เสียค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล เหตุล้างไตเพียงวันละ 1 ครั้ง สะดวกทำในช่วงกลางคืนขณะนอนหลับได้
วันที่ 7 มิ.ย. 67 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าผู้ป่วยล้างไตช่องท้องสามารถใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องแบบอัตโนมัติหรือเครื่อง APD เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย ส่งผลให้มีประชาชน โทร.สอบถามมาที่ สายด่วน สปสช. เพื่อสอบถามสิทธิประโยชน์นี้ในระบบบัตรทอง 30 บาทเป็นจำนวนมาก
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่อง APD นั้น เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง 30 บาท ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธินี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่ง สปสช.มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้เครื่อง APD เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย ซึ่งเครื่อง APD นี้ เป็นการใช้ ‘กำลังของเครื่อง’ แทน ‘กำลังของคน’ ในการดันน้ำยาเข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วย เพื่อแลกเปลี่ยนน้ำยาล้างไตกับของเสียจากร่างกายได้อย่างอัตโนมัติ ใช้เวลา 8-10 ชั่วโมงต่อครั้ง ทำให้ระบายของเสียได้มากและยังทำช่วงกลางคืนขณะนอนหลับเพื่อความสะดวก และถือเป็นข้อดีอย่างยิ่งของ APD คือ การล้างไตเพียง 1 ครั้งต่อวัน ทำให้ผู้ป่วยออกไปใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางวันได้อย่างปกติ ก่อเกิดความสะดวกในการใช้ชีวิต ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เครื่อง APD รวมถึงต้องดูความเหมาะสมที่จะใช้ด้วย
“เกณฑ์การวัดความเหมาะสม อายุรแพทย์โรคไตจะเป็นผู้ประเมิน หากคนไข้มีกิจกรรมต้องทำช่วงกลางวัน เช่น เรียนหนังสือ หรือทำงานช่วงกลางวัน รวมถึงที่ผู้ป่วยวัยทำงานที่เตรียมปลูกถ่ายไต คนไข้เหล่านี้จะเหมาะต่อการใช้เครื่อง APD แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องเข้ารับการอบรมวิธีการใช้เครื่องก่อน เพื่อใช้เครื่องได้อย่างถูกวิธี” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การใช้เครื่อง APD จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีกว่าวิธีอื่น รวมถึงความพอใจในการรักษา APD จะมีมากกว่าการล้างไตทางช่องท้องหรือ CAPD ที่ผู้ป่วยต้องทำด้วยตนเอง 3-4 ครั้งต่อวัน เนื่องจากมีความสะดวกสบายมากกว่า ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นภาระกับครอบครัว นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่อยู่บ้าง กรณีที่เปรียบเทียบกับการฟอกเลือด แต่หากเป็นวิธีล้างไตผ่านหน้าท้องแบบ CAPD และ APD จะไม่มีผลต่อภาระงานเจ้าหน้าที่มากนัก เพราะต่างเป็นการล้างไตโดยผู้ป่วยหรือผู้ดูแลเอง
“ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องบำบัดทดแทนไต สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอใช้เครื่อง APD นี้ได้ ซึ่งการจะเลือกบำบัดทดแทนไตแบบใดนั้น จะเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย โดยมีการให้ข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และเมื่อได้เลือกวิธีบำบัดทดแทนไตแล้ว ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง เช่น การฟอกเลือดที่ไม่ต้องรอคิวนาน หากใช้เครื่อง APD ก็ต้องเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก และมีเครื่องเพียงพอ ซึ่งปัจจุบัน สิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท มีเครื่อง APD เตรียมพร้อมไว้เพียงพอ สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตทางช่องท้องจะต้องมีทีมงานที่ไปเยี่ยมบ้านและดูแลอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว