“ตะคริว” กับวิธีบรรเทาและป้องกัน
หลายคนมักเจอปัญหาที่นอนๆ อยู่แล้วเป็นตะคริวขึ้นมาไม่ต้องหลับต้องนอนต่อเลย แถมบางทีจู่ๆ ก็เป็นตะคริวขึ้นมาขณะใช้ชีวิตประจำวันก็มี ทำเอาทรมานจนน้ำตาเล็ดเลยทีเดียว วันนี้เรามีวิธีป้องกันและบรรเทาการเกิดตะคริวแบบง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองมาบอกเล่าให้ฟังกัน
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดตะคริว
– ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร หรือวันละ 8 แก้ว เพราะเวลาเหงื่อออกมาก ร่างกายจะสูญเสียทั้งน้ำและเกลือแร่
– หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือใช้กล้ามเนื้อเกินกำลังเช่น การยกของหนัก การเล่นกีฬาหนักๆ
– รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียมเช่น กล้วย ส้มแคลเซียม เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานก้างได้ และวิตามินอี เช่น ถั่ว น้ำมันพืช
– ควรดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือคนที่ขาดการออกกำลังกาย
– ฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อในบริเวณที่มักเป็นตะคริวอยู่บ่อยๆ จะช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวได้
หากเป็นตะคริวมีวิธีบรรเทาอาการดังนี้
– ทำปฐมพยาบาลด้วยการใช้มือนวดกล้ามเนื้อมัดที่เป็นตะคริวเบาๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว ถ้าหากกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจนวดต่อด้วยการใช้มือบีบนวดไล่จากเอ็นร้อยหวายขึ้นมาจนถึงข้อเข่า ซึ่งจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น หรือจะใช้วิธียืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้ตึงด้วยวิธีดังต่อไปนี้ก็ได้
– ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้ได้มากที่สุดอย่างช้าๆ (ห้ามทำการกระตุกหรือกระชากอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้เจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้) และอาจเอื้อมมือไปดึงปลายเท้าเข้าหาตัวด้วยก็ได้ โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาที
– ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขา ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรง ยกเท้าขึ้นให้สูงจากพื้นเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงล่าง (ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า) โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาทีเช่นกัน
แก้ตะคริว
– ในช่วงที่กล้ามเนื้อหดเกร็งมาก ให้ใช้วิธีประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการลงได้ หรือเมื่อมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมาก การประคบเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้