“น้ำกัดเท้า” กับวิธีรักษาและป้องกันตนเอง
เข้าช่วงหน้าฝนมีหลายพื้นที่ที่ต้องประสบภัยน้ำท่วมทำให้ป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคยอดฮิตอย่าง “น้ำกัดเท้า” เพราะเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาอีกเป็นกระบุง แต่จะหลีกเลี่ยงไม่เป็นก็ลำบาก วันนี้เราเลยนำวิธีสังเกตอาการและการดูแลแผลจากโรคน้ำกัดเท้าด้วยตนเองมาฝาก
อาการของโรคน้ำกัดเท้า แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ช่วง1-3 วันแรก ผิวหนังเปื่อยเมื่อแช่น้ำ ผิวหนังแดงคัน แสบ ผิวหนังระคายเคือง และลอกบางๆ
ระยะที่ 2 ช่วง 3-10 วัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อรา ผิวหนังจะเปื่อยมีรอยฉีกขาด มีอาการแดง บวม ปวดเจ็บ มีหนองหรือน้ำเหลืองซึม เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่มากกว่าเชื้อรา
ช่วงที่ 3 ช่วง 10-20 วัน ถ้าแช่น้ำต่อเนื่อง ผิวหนังแดง คันมีขุยขาว เปียก เหม็น ผิวหนังจะเปื่อยเป็นสีขาว เป็นขุยหรือลอกบางเป็นสีแดง ผื่นเปียกเหม็น เป็นการติดเชื้อรา
วิธีรักษาและป้องกันโรคน้ำกัดเท้าด้วยตนเอง
– หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำมากๆ
– ถ้าเลี่ยงไม่ได้ต้องสัมผัสน้ำให้ใส่รองเท้าบูท เมื่อขึ้นจากน้ำให้ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่ เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอและทาครีมบำรุงผิว
– ถ้ามีผื่นแดงเล็กน้อย คัน ควรทายากลุ่มสเตียรอยด์
– ถ้ามีผื่นและมีรอยเปื่อยฉีกขาดของผิว มีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนองเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์
– ถ้าเท้าแช่น้ำนานหลายสัปดาห์ต่อเนื่องหรือนิ้วเท้าเกยหรือชิดกันมากทำให้อาจติดเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้าเกิดเป็นผื่นขุยเปียกขาว ควรใช้ยาทารักษาเชื้อรา
– ถ้ามีบาดแผลควรทำแผลและทายาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน
– ระวังการตัดเล็บเท้าเพราะอาจเกิดบาดแผลเป็นทางเข้าของเชื้อโรค
– ทำความสะอาดเท้า ง่ามเท้าของเล็บทุกครั้งหลังลุยน้ำด้วยน้ำและสบู่ เช็ดให้แห้ง