สธ.พร้อมอภิปรายงบฯหลังรับเพิ่มกว่า 9% รับยกระดับ 30 บาทฯ -เงินเสี่ยงภัยโควิด อยู่งบกลาง
“สมศักดิ์” พร้อมแจงงบประมาณ สธ.หลังรัฐบาลเพิ่มงบกว่า 2.1 ล้านบาท หรือกว่า 9% หวังขยายบริการสาธารณสุข รับนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เล็งขยายบริการดูแลป้องกันโรคมะเร็ง ส่วนงบค่าเสี่ยงภัยโควิด19 เป็นงบกลาง อยู่ที่รัฐบาลพิจารณา ขณะที่ “เศรษฐา” อาการดีขึ้นหลังป่วยโควิด19 พร้อมเข้าสภา 19 มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วันแรก จากที่กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567
โดยล่าสุดมีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า สามารถเดินทางเข้าร่วมอภิปรายงบประมาณ ที่สภาฯ ได้ในวันพรุ่งนี้(19 มิ.ย.) หลังป่วยโควิด ว่าหายดีแล้ว ไม่มีอะไรน่ากังวล
ล่าสุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมการอภิปรายงบประมาณ ว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมในการอภิปรายงบประมาณในส่วนของกระทรวงฯ แล้ว ทั้งการชี้แจงประเด็นข้อเท็จจริงตามที่กระทรวงฯ ได้รับงบฯเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ดำเนินการต่างๆ อย่างงบบัตรทอง ได้เพิ่มประมาณกว่า 9% เพื่อดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ในการดูแลสุขภาพประชาชน และการป้องกันโรคต่างๆ รวมไปถึงนโยบาย30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว อย่างที่ผ่านมา ตนเดินทางตรวจเยี่ยมภาคต่างๆ ของประเทศ พบว่า โรคมะเร็งหากป้องกันได้จะช่วยเรื่องคุณภาพชีวิต อย่างภาคเหนือพบสถานการณ์ทั้งโรคหัวใจและโรคมะเร็ง
“นอกจากนี้ เรื่องมะเร็งในผู้หญิง จะเป็นมะเร็งปากมดลูก หากป้องกันได้ตั้งแต่เด็กๆ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี ขยายการบริการเพิ่มขึ้น หากไม่กระทบงบประมาณ ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องดำเนินการ นอกจากนี้ ในภาคเหนือจะพบปัญหามะเร็งปอด ที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขมีการคัดกรองโรคเพื่อให้พบโรคก่อน ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งผู้คัดกรองจะรับรังสีน้อยมากๆ ขณะนี้กำลังดำเนินการ หากผลเป็นไปด้วยดี ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ก็จะสนับสนุนเพิ่มเติม” นายสมศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการอภิปรายงบประมาณครั้งนี้ ต้องเตรียมเรื่องงบดูแลบุคลากร รวมถึงค่าเสี่ยงภัยโควิด19 ด้วยหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า งบค่าเสี่ยงภัยโควิด จะเป็นงบกลาง ซึ่งก็ต้องอยู่ที่ว่าเหลืองบอย่างไร ก็จะพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
ด้านนายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรกขั้นรับหลักการ ในวัน ที่ 19 มิถุนายน 2567 โดยงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ในภาพรวม ครม. อนุมัติจัดสรรงบประมาณ 341,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,966 ล้านบาท จากงบประมาณปี 67 ซึ่งในส่วนงบประมาณที่เพิ่มเติมมานั้น มาจากการเพิ่มงบประมาณ ไปที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายในวงเงิน 235,842 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 18,213 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ
1.ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 15,014 ล้านบาท ค่าเหมาจ่ายรายหัวจาก 3,472 บาท เป็น 3,844 บาทต่อหัว
2.ค่าบริการทางการแพทย์นอกเหมาจ่ายรายหัว เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 2,441 ล้านบาท วงเงินรวม 54,545 ล้านบาทในปี 2568
ทั้งนี้ งบประมาณที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว นอกเหนือจากการเพิ่มงบประมาณค่ารักษาต่อหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมไปในหมวดดังต่อไปนี้ด้วย
1.ค่าบริการสุขภาพ ผู้ป่วยไตวายวายเรื้อรัง เพิ่มขึ้น 698 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 13,506 ล้านบาท
2.ค่าบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ เพิ่มขึ้น 192 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 4,209 ล้านบาท
3.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ เพิ่มขึ้น 117 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 2,180 ล้านบาท
4.ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยโรคหืด เพิ่มขึ้น 101 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 1,298 ล้านบาท
5.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน เพิ่มขึ้น 139 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 2,900 ล้านบาท
6.ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพิ่มขึ้น 1,067 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 19,596 ล้านบาท ครอบคลุม 66.37 ล้านคน