ธุรกิจกัญชง ลั่นทำตามกฎหมายตลอด ไม่ห่วงหากรัฐ คืน “กัญชากัญชง” บางส่วนเป็นยาเสพติด
สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ร่วมภาคธุรกิจ จัดแถลงการณ์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ชี้ปฏิบัติตามกฎหมายตลอด ไม่ห่วง! หากคืนบางส่วนกัญชากัญชงเป็นยาเสพติด คาด 2 ปี อุตฯ “กัญชง” ไทยโต 2 พันล้านเหรียญ ลุยทำ Hemp Sandbox เน้นเส้นใยกัญชง เพื่ออุตสาหกรรมทางการแพทย์
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ร่วมกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์ธุรกิจอุตสาหกรรมกัญชงไทยและการจัดงาน Asia International Hemp Expo & Forum 2024 ระหว่างวันที่ 27-30 พ.ย. 2567
ดันอุตสาหกรรมกัญชงสู่ตลาดโลก
นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย กล่าวว่า ปี 2567 แนวโน้มตลาดของอุตสาหกรรมกัญชงเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดยุโรปและเอเชียบางประเทศได้ปรับกฎหมายการใช้ประโยชน์ของกัญชงให้หลากหลายขึ้น สร้างโอกาสและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าปี 2026 อุตสาหกรรมกัญชงโลกจะเติบโต 1 แสนล้านดอลลาร์ จาก 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2022 ส่วนไทยคาดว่าเติบโตถึง 2 พันล้านดอลลาร์จาก 200 ล้านดอลลาร์เช่นกัน แรงขับเคลื่อนสำคัญของไทยคือ ความเป็นศูนย์กลางด้าน Medical & Wellness Hub ที่รัฐและเอกชนสนับสนุน
ประโยชน์เส้นใยกัญชาอุตสาหกรรมทางการแพทย์
นายพรชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ และเครือข่ายได้สร้างมาตรฐานการผลิตที่ดีและระบบ Tracking System เพื่อติดตามตลอดกระบวนการผลิต ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศมาตรฐานสารสกัดกัญชงตั้งแต่ปี 2564 จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ น้ำมันเมล็ดกัญชง สารสกัด CBD เปลือกกัญชง แกนกัญชง และเส้นใยกัญชง ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ อาหาร เครื่องสำอาง กระดาษ ยานยนต์ เป็นต้น สอดคล้องกับตลาดกัญชงใหม่ในทวีปยุโรปที่อนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากไทย
ทั้งนี้ เส้นใยและสารสกัดกัญชงนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น Alternative Wellness, ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ , อุตสาหกรรมแฟชั่น , ยานยนต์และอากาศยาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ Lifestyle อุตสาหกรรมนี้ยังส่งเสริมแนวคิด ESG และเปิดโอกาสการสร้างและซื้อขายเครดิตคาร์บอน เนื่องจากัญชงสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศได้มากกว่าพืชชนิดอื่นๆ แต่การสร้างมาตรฐานและตรวจสอบความถูกต้องของเครดิตคาร์บอนยังเป็นความท้าทาย
โครงการ Hemp Sandbox
นายพรชัยกล่าวว่า สมาคมฯ มีแนวทางผลักดันให้เกิดราคากลางในวัตถุดิบกัญชงที่เหมาะสม เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานให้ตลาดเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจัดตั้งโครงการ Hemp Sandbox ส่งเสริมการปลูกกัญชงในพื้นที่ราบจากเดิมในพื้นที่ราบสูง ส่งเสริมการปลูกใกล้แหล่งผู้ประกอบการแปรรูปและขนส่งเพื่อส่งออก โดยจะส่งเสริมองค์ความรู้การปลูก จัดหาเมล็ดพันธุ์ที่รับรองพันธุ์ โดยภาครัฐสนับสนุนการให้ความรู้ด้านความต้องการของตลาดในแต่ละอุตสาหกรรม วางแนวทางร่วมคิดค้นและพัฒนาเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวและแปรรูป เป็นต้น
ไม่ห่วงหาก กัญชากัญชง บางส่วนเป็นยาเสพติด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำร่างประกาศนำกัญชากัญชงกลับไปเป็นยาเสพติดโดยรับฟังความคิดเห็นไปแล้วนั้น มีการกำหนดช่อดอกและสาร THC มากกว่า 0.2% ตรงนี้จะกระทบต่ออุตสาหกรรมกัญชงหรือไม่ นายพรชัยกล่าวว่า ปัจจุบันสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% เป็นยาเสพติดอยู่แล้ว มีกฎหมายควบคุมการใช้อย่างชัดเจน มีการจ่ายโดยบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนการเดินหน้าอุตสาหกรรมในเชิงสุขภาพและการแพทย์ ปัจจุบันคนทำผลิตภัณฑ์ก็ต้องขึ้นทะเบียน อย.ตามปกติอยู่แล้ว จะมีมาตรฐานและเกณฑ์ที่ทำตามระบบและขั้นตอน
ส่วนช่อดอกนั้นตั้งแต่ตอนต้นของอุตสาหกรรมกัญชง ทุกคนก็มีการขอใบอนุญาตในการประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการอื่นๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับพืชกัญชงเกี่ยวกับการแพทย์สุขภาพและเส้นใยที่แยกออกไป เชื่อว่าการเดินหน้าทางภาครัฐและเอกชน จะช่วยกันผลักดันให้ตรงตามพันธกิจประเทศในการเป็นเอเชีย เมดิคัลฮับ วิทยาศาสตร์ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการรักษา ซึ่งทุกวันนี้เราเป็นผู้นำให้บริการสาธารณสุขแก่ต่างประเทศอยู่แล้ว ก็ต้องทำงานร่วมกัน
ถามย้ำว่าแสดงว่าไม่ว่าสถานะบางส่วนของกัญชาจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นยาเสพติดหรือไม่ ก็ไม่กระทบต่อการเดินหน้าอุตสาหกรรมกัญชง นายพรชัยกล่าวว่า จริงๆ ปกติผู้ประกอบการกัญชงเราทำตามกฎหมายอยู่แล้วตั้งแต่รุ่น 1 ต้นปี 2564 ทุกคนไปขอไลเซนส์ในการปลูก สกัด จำหน่าย ครอบครอง นำเข้า ส่งออก ก็ต้องไปขอทาง อย. มีการเดินหน้าช่วยเหลือกัน และทำตามกฎระเบียบที่จะต้องเป็นอยู่แล้ว
ถามถึง Hemp Sandbox ที่จะนำกัญชงมาปลูกพื้นที่ราบ จะได้คุณภาพที่แตกต่างกับที่ราบสูงหรือไม่ เพราะมีผลเรื่องของอุณหภูมิต่างๆ นายพรชัยกล่าวว่า Hemp Sandbox จะเป็นเรื่องเส้นใยเป็นหลัก เราจะไม่ห่วงเรื่องสารสกัดที่ได้ เราห่วงคุณภาพเส้นใยมากกว่า สมัยก่อนไทยเริ่มปลูก 40-50 ปีที่แล้ว ส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่สูง มีเรื่องต้นทุนในการขนส่ง ตอนนี้เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมดีขึ้น มีการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ดีขึ้นเรื่องการริหารจัดการต้นทุน เป็นเรื่องที่ดีจะทำให้เป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะเส้นใยกัญชงนำไปใช้ในอุตสาหกรรมได้เยอะมาก