สสส. เปิดเทศกาล เดิน วิ่ง กิน เที่ยวเพื่อสุขภาพ เชียงราย ลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ
สสส.สานพลังภาคี จัดเทศกาล The ICONiC Run Fest Thailand Series ChiangRai 2024 เดิน วิ่ง กิน เที่ยวเพื่อสุขภาพ ดัน Soft Power จ.เชียงราย สร้างเสริมสุขภาพ-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ กระตุ้นคนไทยกลับมามีกิจกรรมทางกาย ลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
วันที่ 30 มิ.ย. 67 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า อ.เมือง จ.เชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (องค์การมหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสมาคมการค้าผู้จัดกีฬามวลชน สมาพันธ์เดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย และภาคีเครือข่าย จ.เชียงราย จัดเทศกาลงานวิ่ง The ICONiC Run FestThailand Series ChiangRai 2024 กิจกรรม เดิน วิ่ง กิน เที่ยว เพื่อสุขภาพ ภายใต้แนวคิด รวมพลังสร้างสุขภาพดี เศรษฐกิจดี สร้างเมืองสู่ความยั่งยืน ต้นแบบกิจกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับประเทศ ปลูกฝังค่านิยมลดพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้กับชุมชน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานเปิดงานกล่าวว่า The ICONiC Run Fest Thailand Series ChiangRai 2024 ถือเป็นมิติใหม่ในการบูรณาการแนวคิดทั้งการเดิน-วิ่ง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงเศรษฐกิจ นอกจากช่วยสร้างกระแสส่งเสริมสุขภาพ เพิ่มอัตราการมีกิจกรรมทางกาย ส่งต่อองค์ความรู้การบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ ยังทำให้เกิดประโยชน์กับ จ.เชียงราย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
จ.เชียงราย เป็น 1 ในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญและเป็นที่นิยมของคนไทยและนานาชาติ ทำให้มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คนในเวลาที่รวดเร็ว คาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดหลายล้านบาท ซึ่งความสำเร็จการจัดงานครั้งนี้ มาจากการสานพลังความร่วมมือ ทั้งจากหน่วยงานระดับท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะคนในชุมชน ช่วยยกระดับ จ.เชียงราย เป็นต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพจุดประกายให้เกิดการงานเทศกาลเดิน-วิ่ง กิน เที่ยว เพื่อสุขภาพในพื้นที่อื่นๆ และส่งต่อความสำคัญขยายผลไปในระดับประเทศ ถือเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์จังหวัดในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนจากการสร้างงานเทศกาลแบบยั่งยืน” ต่อไป
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเด็นสุขภาพให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีทุกมิติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 Actives
1.Active People ส่งเสริมให้คนกระฉับกระเฉง
2.Active Environment ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย
3.ActiveSociety สร้างค่านิยมให้สังคมกระฉับกระเฉง ผ่านนวัตกรรม องค์ความรู้ งานวิชาการ
จากรายงานสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2566 โดยศูนย์พัฒนาความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย พบว่า โควิด-19 ทำให้อัตราการมีกิจกรรมทางกายลดลงจาก 74.6 % ในปี 2562 เหลือ 54.3 % ในปี 2563 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 62.0 % ในปี 2565 และ 68.1 % ในปี 2566 การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างแนวทางและโอกาสเพิ่มอัตราของกิจกรรมทางกายในรูปแบบเทศกาล รวมถึงเป็นพื้นที่ต้นแบบสร้างมาตรฐานและขยายผลสู่การพัฒนาคู่มือการจัดงานในรูปแบบของเทศกาลสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพ ลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต
“The ICONiC Run Fest Thailand Series 2024 ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมโอกาสสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจท่องเที่ยวจากการมีส่วนร่วมของชุมชน ประเดิมสนามแรกที่ จ.เชียงราย สนามต่อไปที่ จ.สุโขทัย วันที่ 24-25 ส.ค. 2567 จ.นครราชสีมา วันที่ 7-8 ก.ย. 2567 จ.มุกดาหาร วันที่ 5-6 ต.ค. และ จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 26-27 ต.ค. 2567 ระยะทาง 10 กม. และ 5 กม. เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วม 2,000 คนต่อจังหวัด โดยนักวิ่งจะได้รับเสื้อ BIB และกระเป๋าสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดเป็นของที่ระลึก สามารถสมัครร่วมกิจกรรมได้ที่ http://thai.fit ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ theiconicrunfest” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ว่าที่ ร.ต.ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมของ จ.เชียงราย ในรูปแบบตลาดนัด Healthy Community ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกเพื่อสุขภาพ หมอนใบชา ข้าวอินทรีย์ นมงาขาว ผักและผลไม้ปลอดสาร ซึ่งภายในงานมีการสาธิตเมนูอาหารเพื่อสุขภาพในท้องถิ่น “อ๊อกปลานิลสมุนไพร” และ “แกงแคไก่” ที่มีผักและสมุนไพรไฟเบอร์สูง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีปริมาณไขมันต่ำ ช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเส้นทางวิ่งที่ผ่านสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สักการะ สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตอกย้ำความเป็นเมืองสุขภาวะ (Wellness City) ช่วยเปิดโอกาสเสริมสร้างเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในทุกด้านอย่างมหาศาล