WHO ชมไทยใส่ใจแก้ปัญหา ย้ำ! นโยบายคุมเหล้า เครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ
WHO ชี้ นโยบายคุมเหล้า เครื่องมือสำคัญลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในสังคม แต่ทั่วโลกขับเคลื่อนได้ยาก เหตุกลุ่มทุนอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์แทรกแซง ด้าน สสส.หนุนประสานความร่วมมือกับศูนย์วิชาการ ขยายวงนักวิจัย นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ผลิตข้อเท็จจริงและนำความรู้ประยุกต์ใช้
วันที่ 7 ก.ค. 67 นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับนานาชาติ “บทบาทของนโยบายแอลกอฮอล์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ : มุมมองนานาชาติ” ระหว่างเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านนโยบายแอลกอฮอล์ กับนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย จัดโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ว่า ประเทศไทยมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และดำเนินงานตามหลักยุทธศาสตร์ SAFER ทำให้เห็นถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเห็นปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาสมดุลบทบาทของนโยบายแอลกอฮอล์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สสส.พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานในด้านของการประสานความร่วมมือกับศูนย์วิชาการ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขยายวงนักวิจัย นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นฐานความรู้ให้กับสังคม และผลิตข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ รวมถึงการนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้
นายแด้ก เรกเว้ เจ้าหน้าที่อาวุโส องค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ (World Health Organization) กล่าวว่า คนทั่วโลกกว่า 56% ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมการดื่มไม่ใช่เรื่องปกติของสังคม โดย 4.7% ของการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์หรือกว่า 2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี นับเป็นความสูญเสียมหาศาล ทั้งที่ป้องกันได้ด้วยนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการควบคุมราคา การจำกัดการเข้าถึงทางกายภาพ และการควบคุมกิจกรรมการตลาดตามยุทธศาสตร์โลกและแผนปฏิบัติการระดับโลก แต่อุปสรรคที่สำคัญในบางประเทศที่ทำให้ไม่สามารถออกนโยบายควบคุมได้คือ อิทธิพลของกลุ่มธุรกิจในกระบวนการตัดสินทางนโยบาย การปรับแก้กฎหมายต้องไม่เปิดช่องให้ธุรกิจเข้ามาแทรกแซง ซึ่งขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังเตรียมออกแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหานี้
“นโยบายควบคุมเหล้าของไทยถือว่าก้าวหน้า การแก้กฎหมายควบคุมเหล้าควรมองไปอนาคตระยะยาว เน้นสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตประชากรเป็นตัวตั้ง จากข้อมูลภาระโรคปี 2019 ร้อยละ 7.7 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยเกิดจากแอลกอฮอล์ หรือกว่า 38,073 ราย รัฐจึงควรตัดสินใจว่าจะลดความสูญเสียนี้อย่างไร การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ต้องร่วมกันหลายภาคส่วนและทำในทุกระดับ การลดหย่อนความเข้มข้นของกฎหมายควบคุมเหล้าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวควรต้องทบทวนให้ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยไม่ได้มาเพื่อดื่มในประเทศสวยงามทั้งสถานที่วัฒนธรรมและผู้คนนี้” นายแด้ก กล่าว
ศ.เดวิด เจอนิเก้น Boston University School of Public Health สหรัฐอเมริกา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายควบคุมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีมูลค่าการตลาดและการแข่งขันสูงมาก มักลงทุนทำกิจกรรมทางการตลาดมากเพื่อขยายฐานลูกค้า สร้างนักดื่มรายใหม่มาทดแทนรายเก่าที่ป่วยและเสียชีวิตไปทุกปี กิจกรรมการตลาดมีความซ้ำซ้อนและมุ่งเป้าไปที่การทำการตลาดกับลูกค้ามากขึ้นผ่านกิจกรรมทางสังคมและให้ทุนอุปถัมภ์กิจกรรมกีฬาและดนตรีที่กลุ่มเยาวชนสนใจ การใช้อินฟูเอนเซอร์ การสื่อสารข้ามพรมแดนของแคมเปญการตลาดระดับโลก และร้ายแรงที่สุดคือการเข้าไปสร้างสัมพันธ์อันดีผู้กำหนดนโยบายและนั่งอยู่ในคณะกรรมการที่พิจารณานโยบายเพื่อลดทอนความเข้มแข็งของการพัฒนานโยบาย นโยบายควบคุมกิจกรรมการตลาดและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงต้องออกแบบให้ครอบคลุมทั้งเนื้อหา ช่องทางและเทคนิคการสื่อสารมากที่สุด
ศ.เจอเก้น เรม ศูนย์การติดยาเสพติดและ สุขภาพจิต แคนาดา (Centre for Addiction and Mental Health : CAMH) นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ด้านนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์และสารเสพติด ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกและที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขของหลายประเทศในยุโรป กล่าวว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของธุรกิจแอลกอฮอล์นับวันจะยิ่งลดลงเรื่อย ๆ การจ้างงานจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร ในทางกลับกันธุรกิจนี้ได้สร้างต้นทุนทางสังคมให้แบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากผลกระทบจากการดื่ม ดังนั้น นโยบายคุมเหล้าคือเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในสังคม มาตรการทางภาษีและการจำกัดการเข้าถึงช่วยลดผลกระทบจากการดื่มหนักและคุ้มครองสุขภาพกลุ่มประชากรเปราะบางรายได้น้อยไม่ให้กลายเป็นนักดื่มหรือติดสุราได้ดี
ศ.โทมัส บาร์เบอร์ โรงเรียนแพทย์แห่งหมาวิทยาลัยคอนเน็คติคัท สหรัฐอเมริกา (University of Connecticut School of Medicine) นักวิชาการอาวุโสระดับโลกและหัวหน้าบรรณาธิการวารสารวิชาการชั้นนำด้านการเสพติดหลายสำนักและบรรณาธิการหนังสือ“สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา” กล่าวว่า การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลประโยชน์และต้นทุนผลกระทบของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยามราตรีด้วยการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ ที่เนเธอร์แลนด์พบผลจากขยายเวลาขายในช่วงกลางคืนเพิ่ม 1 ชั่วโมง ทำให้มีการเรียกรถพยาบาลจากเหตุการณ์บาดเจ็บจากแอลกอฮอล์มากขึ้นถึง 34% ทำให้มีเหตุทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น 25% ดังนั้นการท่องเที่ยวสายปาร์ตี้ (party tourisms) อาจมีผลประโยชน์ไม่สูงเพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่นกำลังซื้อไม่สูงและอยู่มาเพียงระยะสั้น ในขณะที่สร้างต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อห้องฉุกเฉินและสถานีตำรวจ และอาจมีความเสี่ยงปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ หากไทยจะกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจควรเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และวัฒนธรรมมากกว่า ซึ่งเป็นที่นิยม ไม่สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และสร้างมูลค่าสูงกว่าจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังซื้อสูงกว่า