ปลัดสธ.เผย ค่าเสี่ยงภัยโควิด รอบสองกว่า 3.9 พันล้าน เสนอของบฯ แล้ว ผ่านจุดของกระทรวง
ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ Hfocus มีการติดตามเงิน “ค่าเสี่ยงภัยโควิด” หรือเงินค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานช่วงการระบาดของโควิด19 ที่ผ่านมา ซึ่งงบประมาณดังกล่าวรวมวงเงินกว่า 6,700 ล้านบาท เป็นเงินค้างจ่ายบุคลากรตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎกาคม 2564 จนถึงกันยายน 2565 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 1.งบค่าเสี่ยงภัยโควิดช่วงเดือนกรกฎาคม 2564- ครึ่งเดือนแรกเดือนมิถุนายน 2565 วงเงิน 2,995.95 ล้านบาท และ 2.งบค่าเสี่ยงภัยโควิดช่วงครึ่งเดือนหลังมิถุนายน จนถึงกันยายน 2565 วงเงินรวม 3.9 พันล้านบาท
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวHfocusได้สอบถาม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กรณีข้อเสนอของบประมาณ ค่าเสี่ยงภัยโควิด19 ไปยังรัฐบาลแล้วใช่หรือไม่ ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำเรื่องเสนอไปแล้ว โดยเป็นค่าเสี่ยงภัยโควิดรอบสองจำนวนกว่า 3,900 ล้านบาท ซึ่งผ่านพ้นขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามย้ำแสดงว่าอยู่ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ผ่านขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข ไปแล้ว ส่วนจะอยู่ที่ใครไม่ทราบ เพราะก่อนจะถึงครม.ก็จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ อย่างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือสลค.
ร่างกฎหมายแยกตัวออกจากก.พ.
เมื่อถามกรณีกฎหมายแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) หากแยกตัวแล้วจะส่งผลอย่างไรกับกระทรวงฯ นพ.โอภาส กล่าวว่า เร็วไปที่จะพูด ขอให้รับฟังความคิดเห็นให้ครบก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นในเว็บไซต์ LAW ถึงวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ทุกคนไม่ใช่เฉพาะบุคลากรสาธารณสุข สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ทั้งประชาชนทั่วไป หรือสื่อมวลชนก็มาแสดงความคิดเห็นได้ทั้งหมด
แผนกำลังคนด้านสุขภาพทั้งประเทศ
ถามถึงกรณีแผนกำลังคนด้านสุขภาพเข้า ครม.เพื่อพิจารณาแล้วใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน จะเข้าครม.หรือไม่ตนไม่ทราบ
เมื่อถามย้ำว่าได้เสนอเข้าครม.แล้วใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เท่าที่ทราบส่งไปแล้ว แต่อาจอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าถึงครม.แล้วหรือยัง
ถามอีกว่าแผนกำลังคนด้านสุขภาพนี่คือ แผนยุทธศาสตร์กำลังคนภาพรวมทั้งประเทศหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ใช่ เป็นภาพรวมและเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีบัญชาเรื่องการแก้ปัญหาพยาบาล ซึ่งนายกฯ เน้นเรื่องพยาบาล แต่ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้แนบยุทธศาสตร์ภาพรวมด้วย เพราะทุกวิชาชีพเกี่ยวข้องกัน