วัยรุ่นติดโรคเพิ่ม 3 เท่าตัว โดยเฉพาะซิฟิลิส พบไม่ใช้ถุงยางอนามัย
รมว.สธ. ประกาศความสำเร็จไทยลดแม่วัยรุ่นได้เท่าตัว มุ่งเป้าลดแม่วัยรุ่นเหลือ 15 ต่อ 1,000 คน ภายในปี 70 ห่วง! ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้น โรคซิฟิลิสในกลุ่มเยาวชนอยู่ที่ 91.2 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3 เท่า จากปี 61
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิแพธทูเฮลท์ และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “Strong Community for Healthy Sexuality : ชุมชนเข้มแข็งสร้างสุขภาวะทางเพศ” โดยมีผู้แทนคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด เครือข่ายคนทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศ แกนนำเยาวชน เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
วัยรุ่นติดโรคเพศสัมพันธ์เพิ่ม 3 เท่าตัว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และรองประธานกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า สุขภาวะทางเพศมีหลากหลายมิติเกี่ยวพันกับประชาชนทุกเพศทุกวัยทั้งเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ การยุติการตั้งครรภ์ ความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นเป็น 1 ในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ขณะนี้มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง คือ การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสในกลุ่มเยาวชนอยู่ที่ 91.2 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 27.9 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า สอดคล้องกับพฤติกรรมไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อ HIV ซึ่งในปี 2565 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 9 พันคน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเยาวชน
“การจัดการประชุมครั้งนี้ เน้นสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาวะทางเพศในระดับชุมชน ซึ่งความมุ่งมั่นในการทำงานของทุกภาคส่วน ส่งผลให้ใน 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการคลอดในวัยรุ่นของไทยลดลงกว่าเท่าตัวเหลือ 21 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 53.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2555 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันฯ ได้ปรับค่าเป้าหมายให้ท้าทายขึ้น ตั้งเป้าลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นไม่เกิน 15 ต่อประชากรหญิง อายุ 15-19 ปี 1,000 คน ภายในปี 2570 รวมถึงส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ ความท้าทายในยุคเด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ขณะเดียวกันยังมีเด็กส่วนหนึ่งที่เกิดจากแม่วัยรุ่น และไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม จึงต้องร่วมกันดำเนินงานให้ทุกชีวิตเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ” นายสมศักดิ์ กล่าว
รมว.สธ. เพิ่มเติมว่า การสร้างชุมชนเข้มแข็ง ต้องมีพ่อแม่ มีความรู้ ทำให้เกิดการส่งผ่านความรู้ไปยังเยาวชนและเด็กที่อยู่ในชุมชน เช่น เรื่องเพศ องค์กรของชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง เพราะการตั้งครรภ์ที่ยังไม่พร้อมในเรื่องของครอบครัว ไม่มีองค์ความรู้ต่าง ๆ หรือเรื่องรายได้ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อย เมื่อตั้งครรภ์แล้วมีภารกิจที่ยังต้องพึ่งพาผู้ใหญ่หรือคนอื่น ๆ การที่ชุมชนเข้มแข็ง ช่วยกันระดมความรู้ให้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ส่วนการส่งเสริมการมีบุตร และการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ไม่ได้สวนทางกัน เพราะอายุน้อย ไม่มีความพร้อม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาอีกมากมาย การให้ความรู้ ระดมสมองขององค์กรต่าง ๆ จึงต้องมาช่วยกันดูแลตรงนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้อัตราคลอดในวัยรุ่นของไทยอยู่ที่ 21 ถือว่าบรรลุเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติแล้วหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อัตราการคลอดในวัยรุ่นของไทยตอนนี้มี 21 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน แต่ตั้งเป้าหมายให้เหลือ 15 คน จึงเป็นเรื่องท้าทาย ต้องรณรงค์ต่อไป
เมื่อถามว่า ปัญหาการตีตรา และเลือกปฏิบัติในวัยรุ่นตั้งครรภ์ยังมีอยู่ มีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องรณรงค์ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ รับผิดชอบในตัวบุคคล ให้ตระหนักรู้ถึงผลความยุ่งยาก ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ถ้าผิดก็มีปัญหาให้แก้มาก
ถามต่อว่า เยาวชนมีขอสิทธิหลายเรื่อง จะนำมาผลักดันอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อยู่ที่คณะกรรมการไปดำเนินว่าสิ่งที่ขอ ทำให้ได้ถูกต้อง จะแก้ ใช้เวลาอย่างไร ให้เป็นที่ยอมรับ ทำให้เกิดการยอมรับที่ถูกต้อง ในการแก้ไขต้องมีองค์กรต้องไปติดตาม
“การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทำให้ลดลง และยั่งยืน ส่วนการตั้งครรภ์ของคนไทยยังน้อยลง สวนทางกัน แต่ตอนนี้เอาสิ่งที่ควรจะเป็นเพื่อประโยชน์ของประเทศ ก็ให้เป็นไปตามแนวทาง ให้เด็กมีการตั้งครรภ์น้อยลง” รมว.สธ. กล่าว