สสส. เผยโครงการ อาชีวะ ป้องกันปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าลดลง
สรุปผลโครงการ “อาชีวะ” ป้องกันปัจจัยเสี่ยง สสส.-สอศ.-มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมพัฒนาครู-แกนนำนักศึกษา นำร่อง 45 แห่ง เผยตรวจพบเหล้า บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าลดลง ปิดพื้นที่เสี่ยงในวิทยาลัย พร้อมเร่งขยายผล สร้างสถานศึกษาปลอดภัย วิทยาลัยแห่งความสุข ผู้เรียนมีสุภาพกายและจิตที่ดี
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 67 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดเวทีสรุปผลงานการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานศึกษา ครู และนักศึกษาแกนนำ 45 แห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เยาวชนไทยกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า จากผลสำรวจสถานการณ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 พบอัตราการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนอายุ 13-15 ปี เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงง่ายขึ้น มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์รูปการ์ตูน ทันสมัย แต่งกลิ่นหลายรสชาติ ชวนให้ลองสูบ และหลอกล่อด้วยคำโกหกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย เช่น แค่มีกลิ่นหอม เป็นแค่ไอน้ำ ปลอดภัยกว่า หรืออ้างว่าไม่มี “นิโคติน” ทำให้ไม่เสพติด
แต่ความจริงมีสารเคมีที่เป็นอันตรายทำลายปอด ทำให้เกิดโรคปอดข้าวโพดคั่ว (popcorn lung) รักษาไม่หาย นิโคตินเมื่อสูบเข้าร่างกายถูกส่งไปยังสมองภายในระยะเวลา 10 วินาที ทำให้สมองของวัยรุ่นที่ยังเติบโตไม่เต็มที่เสี่ยงต่อการเสพติด ขณะที่สถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 พบกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี สูงสุดถึงร้อยละ 84.1 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา
สสส.ได้ร่วมกับ สอศ. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยงฯ มาตั้งแต่ปี 2563 โดยเริ่มพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา และทดลองดำเนินการในวิทยาลัยอาชีวะ 25 แห่ง และขยายสู่ 45 แห่งครอบคลุม 5 ภูมิภาค ซึ่งมีก้าวหน้าการดำเนินงาน อาทิ
1.ปัญหาการลักลอบสูบบุหรี่ในสถานศึกษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
2.พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย
3.เกิดความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานในการป้องกันการซื้อขายเหล้าและบุหรี่ให้นักศึกษา
4.ผลิตชุดสื่อโดยนักศึกษาและเผยแพร่ทั้งในสถานศึกษา และสื่อสังคมออนไลน์
5.จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อป้องกันนักศึกษาให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงกว่า 80 กิจกรรม
ทั้งนี้ สสส. จะเชื่อม สาน และเสริมพลังให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินงานควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้รับพิษภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ โดยสนับสนุน 5 มาตรการ คือ 1.พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2.สร้างความตระหนักรับรู้โทษพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า 3.เฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมาย 4.พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา 5.ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน
เรือโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า สอศ. มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ คือ ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและทักษะวิชาชีพ รวมถึงมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ดังนั้น การสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพให้รู้เท่าทันและป้องกันปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญ จากการดำเนินโครงการฯ ร่วมกับ สสส. ในวิทยาลัยอาชีวศึกษา 45 แห่ง พบว่า ช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงได้จริง เช่น อัตราการตรวจพบเหล้า บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าลดน้อยลง ปรับปรุงพื้นที่เสี่ยงอย่างห้องน้ำให้ไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงอีกต่อไป นักศึกษารุ่นพี่มีส่วนร่วมดูแลและป้องกันปัจจัยเสี่ยงของรุ่นน้อง ชมรมวิชาชีพร่วมทำกิจกรรมพัฒนาบุคลิกภาพผู้เรียนไม่ให้เป็นผู้สูบ-ผู้ดื่ม รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ในช่วงเวลาสำคัญ เช่น วันงดสูบบุหรี่โลก วันต่อต้านยาเสพติด หรืองดเหล้าเข้าพรรษา
สอศ.จะขยายผลการดำเนินโครงการฯ สู่วิทยาลัยอาชีวศึกษาทุกแห่ง โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้เป็นสถานศึกษาปลอดภัย เป็นวิทยาลัยแห่งความสุข ผู้เรียนมีสุภาพกายและจิตที่ดี อาศัยหลัก 3 ป. คือ “ป้องกัน” ความเสี่ยงทั้งตัวบุคคลและสถานที่ “ปลูกฝัง” ให้เด็กรู้วิธีเอาตัวรอด สอนวิชาชีวิต และ”ปราบปราม” การกระทำผิดอย่างจริง เน้นเยียวยาผู้เสียหาย ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตรวจสอบเว็บไซต์ ภาพสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม ที่สำคัญคือ ต้องปลอดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีมาตรการดังนี้
1.จัดตั้งคณะทำงานวางแผนและกำหนดกิจกรรมสอดแทรกเรื่องบุหรี่ทั้งในและนอกหลักสูตร
2.จัดเวรยามครูทั้งในและนอกโรงเรียน เพื่อเฝ้าระวังในสถานที่เปลี่ยวร่วมกับตำรวจ
3.จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักร่วมกับชุมชน