สบยช. – สปสช. จัดทำมาตรฐาน พร้อมหนุนภาคประชาชนร่วมจัดบริการ “บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด”
สบยช. – สปสช. จัดทำมาตรฐาน พร้อมหนุนภาคประชาชนร่วมจัดบริการ “บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด” ด้าน รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ระบุ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมจัดบริการสาธารณสุข ช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ผู้ประกอบวิชาชีพเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย เน้นการให้บริการที่มีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด
ในเวทีเสวนาหัวข้อ “ภาคประชาสังคม : แนวร่วมสำคัญในการจัดบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ใช้สารเสพติด” ในงานประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 24 ปี 2567 “บวร” พร้อมใจ สร้างสังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด จัดโดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา
รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภาคประชาชนเป็นส่วนที่สามารถเข้ามาร่วมจัดบริการด้านสาธารณสุขได้ เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ผู้ประกอบวิชาชีพยังขาดความพร้อม หรือเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นปรัชญาในการดำเนินงานของ สปสช. และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการของ สปสช. คือการสร้างส่วนร่วมและความผูกพันธ์ (Participation & Engagement) หรือการเน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม มีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของระบบ
อย่างไรก็ดี การที่จะทำให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการนั้น ต้องทำให้ภาคประชาชนแข็งแกร่งเสียก่อน ประการแรก คือภาคประชาชนต้องรับรู้ก่อนว่ามีสิทธิอะไรบ้าง จากนั้นเมื่อรู้สิทธิแล้วจึงจะสามารถเข้าถึงสิทธิได้ นอกจากนี้เมื่อเข้าถึงสิทธิได้แล้ว หากบางครั้งถูกละเมิดสิทธิ ภาคประชาชนก็ต้องมีความแข็งแกร่งพอที่จะคุ้มครองสิทธิของตัวเองได้ เมื่อพัฒนามาถึงขั้นนี้ ถึงจะเข้าสู่เวทีของการมีส่วนร่วมในการร่วมให้บริการได้ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ใช้วิธีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือในกรณีบริการด้านยาเสพติดก็คือ สบยช. ในการเป็นผู้กำหนดมาตรฐานบริการ รวมทั้งมาตรฐานของผู้ให้บริการ เมื่อฝั่งภาคประชาชนได้รับการอบรมจนมีศักยภาพตามมาตรฐานที่กำหนดแล้ว ก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านกับ สปสช. เพื่อร่วมให้การดูแลกลุ่มเป้าหมาย และสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ได้
รศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาถึงงานของผู้ให้บริการในปัจจุบัน ถือว่ามีภาระงานที่หนักมากทีเดียว โดยเฉพาะการดูแลผู้ใช้สารเสพติดทำให้ภาคประชาชนเข้ามาช่วยเติมเต็มบริการได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน สปสช. มีบริการที่จัดโดยภาคประชาชนในหลายด้าน ทั้งการจัดบริการนวดไทยเพื่อฟื้นฟูเด็กพิการทางสมองโดยกลุ่มผู้ปกครองของเด็กพิการ เครือข่ายคนพิการที่จัดบริการฝึกสอนเพื่อนคนพิการติดบ้านติดเตียงในการดำรงชีวิตอิสระ เครือข่ายผู้ป่วยเอชไอวีดูแลเพื่อนผู้ติดเชื้อด้วยกันเอง เครือข่ายศาสนาเพื่อจัดบริการชีวาภิบาลแก่ผู้มีภาวะพึ่งพิง หรือการจัดบริการดูแลพระสงค์อาพาธโดยพระคิลานุปัฏฐาก เป็นต้น
“ส่วนงานด้านบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ที่ผ่านมา สปสช. ทำงานร่วมกับ สบยช. ในการจัดทำมาตรฐานบริการเสร็จสิ้น ซึ่งจะเป็นส่วนที่เข้าไปช่วยเติมเต็มงานที่กำลังทำอยู่ในพื้นที่ แน่นอนว่าการที่ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการต้องผ่านด่านเยอะมาก แต่ไม่ต้องกังวล เพราะทางกรมการแพทย์ โดย สบยช. ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาคประชาชนต้องฝ่าฟันไปจนมีระบบบริการที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐ” รศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวต่อ
รศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องเปิดใจด้วยว่า การจัดบริการโดยภาคประชาชนจะเป็นส่วนที่เข้ามาเติมเต็ม เพราะมีหลายบริการที่ภาครัฐทำไม่ได้ หรือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายไม่ได้ ดังนั้นการร่วมมือกันผลักดันให้เกิดบริการโดยภาคประชาชน สุดท้ายแล้วผลประโยชน์จะตกอยู่กับผู้ใช้ยาเสพติด