แพทยสภา ออกแถลงการณ์ ปมฟ้องศาลปกครองโครงการจ่ายยา 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย
แพทยสภา ออกแถลงการณ์ ความเข้าใจในกรณีการฟ้องศาลปกครอง เกี่ยวเนื่องกับ โครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยเภสัชกรร้านยา ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 67ที่ผ่านมา แพทยสภา ออกแถลงการณ์ เรื่อง ความเข้าใจในกรณีการฟ้องศาลปกครอง เกี่ยวเนื่องกับ โครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยเภสัชกรร้านยา ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
กรณีที่แพทยสภาใช้กระบวนการยุติธรรรมทางปกครองกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสภาเภสัชกรรม เรื่องประกาศของ สปสช. ให้ประชาชนที่มีภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อยใน ๑๖ กลุ่มอาการไปรับยาจากเภสัชกรในโครงการ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ได้นั้น แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่มีประโยชน์กับประชาชนในแง่การได้รับยาได้รวดเร็ว และยังอาจช่วยลดความแออัดโนโรงพยาบาลได้ แต่แนวทางดังกล่าว แทนที่ประชาชนส่วนหนึ่งที่เจ็บป่วยจะได้รับการตรวจ รักษา บำบัด เยียวยา อย่างถูกต้องและตรงตามสมมติฐานของโรคอันแท้จริง แต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น การให้ยาตามอาการแต่อาจไม่ตรงกับโรค ทำให้โรคซับซ้อนขึ้นจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จนถึงมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงและเพิ่มโอกาสในการดื้อยาอันยากต่อการรักษา
แพทยสภามีความตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงมีความจำเป็นต้องขออำนาจศาลปกครองเพื่อให้เกิดการ “หยุดและทบทวน” เพื่อคุ้มครองประชาชน
ประเด็นปัญหาสำคัญคือ ประกาศฉบับดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่าให้เภสัชกรเป็นผู้วินิจฉัยและใช้ดุลพินิจในการจ่ายยาหลายประเภท ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่อาจนำอันตรายอย่างร้ายแรงมาสู่คนไข้โดยไม่คาดคิด เช่น กรณีปวดหัว ปวดท้อง อาจคิดว่าเป็นอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งปวดหัวอาจเป็นอาการนำของเส้นเลือดในสมองแตก การปวดท้องอาจเป็นอาการนำของโรคไส้ติ่งแตก หรือเส้นเลือดแดงใหญ่ปริแตก อาการดังกล่าวจึงควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเร่งด่วน คนไข้จะมีช่วงเวลาจำกัดที่ต้องได้รับการรักษาเพื่อช่วยชีวิต ดังนั้นการจ่ายยาโดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงในอาการที่ไม่ได้รับการตรวจ ย่อมไม่สามารถวินิจฉัยแยกโรคหรือวินิจฉัยได้แต่ล่าช้า เสียโอกาสในการรักษา จนนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตได้
ซึ่งมีหลายโรคที่แม้อาการนำแรกเริ่มจะดูเล็กน้อย แต่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุเพื่อรักษาได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญขั้นตอนการตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำเป็นกระบวนการที่อยู่นอกเหนือขอบเขตวิชาชีพของเภสัชกร แม้ในบางประเทศมีระบบให้คนไข้ไปพบเภสัชกร ก่อนพบแพทย์ จะต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลผู้ป่วยร่วมกันระหว่างแพทย์และเภสัชกร ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันในการแยกโรคที่มีภาวะรุนแรงออกไปจนเหลือโรค หรือภาวะที่เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งต่างจากในประกาศฉบับนี้
ที่ผ่านมาแพทยสภาได้พยายามหาทางออกร่วมกับ สปสช. และสภาเภสัชกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนรายละเอียดของประกาศที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือเพื่อความปลอดภัยของประชาชน อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จ แพทยสภาจึงมีความจำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรมของศาลปกครองเพื่อ “หยุดและทบทวน” โครงการให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานเป็นสำคัญ
แพทยสภายินดีที่จะร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม และ สปสช. เพื่อสร้างระบบการรักษาที่มีมาตรฐาน เข้าถึงง่าย ปลอดภัย เพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกๆคน
อนึ่ง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวในขณะนี้อยู่ในศาลปกครองแล้ว การให้รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ จึงสมควรกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เกิดเป็นประเด็นในกระบวนการพิจารณาของศาล