วัยรุ่นปรึกษาท้องไม่พร้อมเฉลี่ยวันละ 128 ราย รองนายกฯ หนุนแก้ปัญหาทุกภาคส่วน
รองนายกฯ “ประเสริฐ” ประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ปัญหาท้องในวัยรุ่น หนุน คณะอนุกรรมการ ฯ ระดับจังหวัด มุ่งดึงทุกภาคส่วน ร่วมคลี่คลายป้องกันปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่มอายุต่ำกว่า 14 ปี ขณะที่กรมอนามัยเผยข้อมูลวัยรุ่นปรึกษาสายด่วนท้องไม่พร้อมผ่านช่องทางออนไลน์สายด่วน 1663 วันละ 128 ราย ด้วยปัญหาท้องไม่พร้อม
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 67 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าร่วมประชุม
คลอดในวัยรุ่นยังสูง
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2567 ว่าการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเด็กวัยเรียน วัยรุ่น ถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต การดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 หน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการฯ และขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลดอัตราคลอดในวัยรุ่นได้ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม พบว่า ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ศ. 2563 – 2567 อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุน้อย คือ ต่ำกว่า 14 ปี เริ่มคงที่อยู่ในระดับ 0.9 ต่อพัน และล่าสุดในปี 2567 อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี เท่ากับ 0.93 ต่อพัน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.7 ต่อพัน จึงยังต้องให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง
ด้าน นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีการขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานระดับพื้นที่ผ่านคณะอนุกรรมการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยเน้นการมีส่วนร่วม ของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันคลี่คลายป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มต่ำกว่า 14 ปี เช่น การส่งเสริมความรอบรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต การเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรเพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การจัดให้มีระบบดูแลช่วยเหลือ คุ้มครองนักเรียนที่ตั้งครรภ์ ให้ได้ รับการดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิด้านการศึกษาและสวัสดิการสังคมรอบด้าน
เผยผลงานจากพ.ร.บ.แก้ปัญหาท้องในวัยรุ่น
พญ.อัมพร กล่าวว่า พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 มีผลทำให้การขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นไปได้ดีขึ้น วัยรุ่นเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตร โดยได้รับการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมผ่านช่องทางออนไลน์สายด่วนและเฟซบุ๊ก 1663 (มูลนิธิเข้าถึงเอดส์) รวมทั้งสิ้น 46,893 ราย (เฉลี่ย 128 ราย/วัน) การจัดสวัสดิการสังคม พบว่าวัยรุ่นร้อยละ 96.3 ได้รับสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ร้อยละ 90.4 มีความพึงพอใจต่อการได้รับสวัสดิการทางสังคม สภาเด็กและเยาวชนขับเคลื่อนกิจกรรมป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 414 กิจกรรม
พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า การคลอดของวัยรุ่นเริ่มนิ่งใน 1- 2 ปีที่ผ่านมา แต่ปี 2567 เพิ่มขึ้น หลักจุดทศนิยม ที่น่าจับตา คือแม่เด็กหญิงอายุ 10-14 ปีที่เพิ่มขึ้น มีการวิเคราะห์พบว่า มีตั้งแต่ 1. ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ได้ป้องกัน ซึ่งต้องเพิ่มความรู้ตรงนี้ 2. การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และ 3. กลุ่มที่บอกว่ามีความพร้อม คือประสงค์ตั้งครรภ์ ครอบครัวยอมรับ แต่เพราะเป็นเด็กไม่มีความพร้อมทางสุขภาพ และวุฒิภาวะ แทนที่จะเป็นเด็กหญิงแม่ แต่การศึกษายังสามารถพัฒนาชีวิตเขาได้มากกว่านี้ ดังนั้นเราต้องเดินหน้าชี้ให้เห็นถึงการชะลอการตั้งครรภ์ออกไปก่อน
“เรามีการวิเคราะห์เพิ่มเติม พบว่าการที่อัตราเด็กหญิงแม่ที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากการละเมิดทางเพศ แต่ละปีมีไม่น้อย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการใช้เงินเยียวยาที่สูงขึ้น เกินกว่า 40 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่เราต้องรีบช่วยกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก” พญ.อัมพร กล่าว
ดังนั้นที่ประชุมมีการกำหนดแนวทางดังนี้
1. กำหนดให้มีการทำรายงานคลอดในวัยรุ่นที่มีความละเอียด มีข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นภาพ
2. สสส. ให้การสนับสนุนศึกษาข้อมูลเหล่านี้ รวมถึงออกแบบการป้องกัน แก้ไขปัญหาแบบวันสต็อปเซอร์วิส ทั้งเรื่องสวัสดิการของรัฐ การส่งเสริมให้เข้าสู่การศึกษา วิชาชีพที่ตอบตอบโจทย์การใช้ชีวิต และการช่วยเหลือด้านต่างๆ เป็นต้น และเพื่อให้การทำงานได้เร็วขึ้น จึงให้มีการทำเอ็มโอยูร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำวันสต็อปเซอร์วิสดังกล่าว ลงไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตอนนี้มีการฟอร์มทีม เร่งทำงานให้เห็นภาพความร่วมมือนี้ก่อนการประชุมครั้งต่อไปในเดือนมี.ค.2568 โดยจะมีการทำเป็นแซนบ็อกซ์ก่อนเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน