“ใส่รองเท้าส้นสูง” กับอันตรายและวิธีป้องกัน
อันตรายจากการใส่รองเท้าส้นสูง
– เกิดอาการปวดเท้า เจ็บเท้า เนื่องจากเท้าต้องเขย่งตลอดเวลา ทำให้แรงกดที่ฝ่าเท้าต่อพื้นที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะต่อเท้าส่วนหน้า ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาหนังด้านแข็งที่ฝ่าเท้า อาการเจ็บบริเวณหัวกระดูกฝ่าเท้าด้านหน้า ถ้าด้านหน้ารองเท้าเป็นแบบหน้าแคบหรือหัวแหลม จะทำให้บีบหน้าเท้า ยิ่งเพิ่มความเจ็บปวดแก่ผู้สวมใส่ยิ่งขึ้น และอาจเกิดเท้าส่วนหน้าผิดรูปตามมา เช่น นิ้วหัวแม่เท้าเก ปลายนิ้วเท้างอ เป็นต้น
– ปวดตึงบริเวณน่องและเอ็นร้อยหวาย เนื่องจากการสวมใส่ส้นสูงจะอยู่ในท่ายืนเขย่งตลอดเวลา ทำให้เกิดการตึงของเอ็นร้อยหวาย มีอาการปวดน่องในเวลากลางคืน และบางคนถึงกับเป็นตะคริวน่อง เพราะกล้ามเนื้อน่องต้องทำงานหนักขึ้น
– ปวดเข่า เข่าเสื่อมก่อนวัย เนื่องจากการเดินบนรองเท้าสันสูง จะมีแรงกระแทกที่ข้อเข่ามากกว่าการใส่รองเท้าส้นเตี้ย แรงกระแทกจะยิ่งมากขึ้นตามน้ำหนักตัวและความเร็วในการเดิน
– ปวดหลัง เนื่องจากการใส่ส้นสูงมากยืนเดิน มีผลทำให้ทำให้ช่วงเอวแอ่น ไปด้านหน้ามากยิ่งขึ้น ก็จะตามมาด้วยอาการปวดหลัง
– เส้นเลือดขอด จากการที่กล้ามเนื้อน่องทำงานในการบีบไล่เลือดดำในน่องได้ไม่ดีในขณะที่ยืนเขย่งอยู่บนรองเท้าส้นสูง
– เสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เท้าแพลง หกล้ม
วิธีสวมรองเท้าส้นสูงให้ปลอดภัย
– ไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูงติดต่อกันเกินวันละ 3 ชั่วโมง
– เลือกรองเท้าที่พอดีกับเท้า โดยไม่จำเป็นต้องเผื่อพื้นที่หลังเท้า เพื่อป้องกันเท้าเลื่อนไปบริเวณด้านหน้ารองเท้า และลดอาการปวดเมื่อยนิ้วเท้า
– ใช้แผ่นเสริมรองเท้า ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นซิลิโคนรองเท้าชนิดนิ่ม เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องสวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
– สลับไปใส่รองเท้าส้นเตี้ยบ้างเป็นระยะๆ
– เลือกรองเท้าส้นตึกแทนรองเท้าส้นเข็ม เพราะรองเท้าส้นตึกช่วยให้เดินได้อย่างมั่นคงมากกว่าการใส่รองเท้าส้นเข็ม
– เลือกรองเท้าหน้ากว้างกว่าปลายเท้า เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดตาปลา และปมประสาทนิ้วเท้าอักเสบ
– นวดเท้าและแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นเป็นประจำหลังสวมรองเท้าส้นสูง เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเอ็นร้อยหวาย