สธ.โต้งานวิจัยฉีด mRNA บ่อยเสี่ยงติดโควิดกว่าเดิม ขาดความน่าเชื่อถือ
วันที่ 3 ม.ค. 66 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากกรณีมีข่าวรายงานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ระบุเรื่องการรับวัคซีน mRNA หลายครั้ง เพิ่มความเสี่ยงติดโรค โควิด-19 ซ้ำนั้น
จากการตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลงานวิจัยของแผนกโรคติดเชื้อ คลีฟแลนด์คลินิก สหรัฐอเมริกา ซึ่งยังไม่ได้รับการประเมินรับรองจากผู้เชี่ยวชาญก่อนการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ และยังไม่ได้รับการยอมรับให้เผยแพร่ตามมาตรฐานวิชาการ ประเด็นที่พบเป็นเพียงการนำเสนอจากข้อมูลที่มีอยู่ ขาดการวิเคราะห์และสรุปข้อมูล
โดยเฉพาะข้อมูลด้านระบาดวิทยาที่สำคัญ พฤติกรรมเสี่ยง พฤติกรรมการป้องกันโรค และประวัติการติดเชื้อร่วมกับการฉีดวัคซีน เนื่องจากการฉีดวัคซีน โควิด-19 เพียงอย่างเดียวไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อหรือการติดเชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ ต้องร่วมกับพฤติกรรมป้องกันโรค เช่น สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะหรือมีผู้คนแออัด ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ดังนั้น ผลวิจัยดังกล่าวจึงขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก
“ที่สำคัญ ข้อมูลงานวิจัยดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับไทยได้ เนื่องจากมีความแตกต่างกันในด้านสถานการณ์ มาตรการป้องกันควบคุมโรค ด้านระบาดวิทยา และพฤติกรรมสุขภาพของประชากร โดยสหรัฐอเมริกาไม่ได้เน้นมาตรการ
เช่น การสวมหน้ากากอนามัยเหมือนไทย ระบบการรักษาพยาบาล การควบคุมโรค และสายพันธุ์ของเชื้อที่ระบาดมีความแตกต่างกัน อีกทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นมากกว่า 3 เข็มในสหรัฐฯ เป็นกลุ่มผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงสูง จึงมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น”
นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า ผลศึกษาดังกล่าวมีประโยชน์ในแง่สนับสนุนให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างรอบด้านมากขึ้น เพื่อเป็นข้อสรุปที่สำคัญในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว เช่น จำนวนเข็มกระตุ้นที่เหมาะสม ระยะห่างที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุกปี
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว สตรีตั้งครรภ์และเด็ก ทั้งนี้ ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก คือ วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นช่วยลดโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ชัดเจน จึงขอเชิญชวนประชาชนให้ฉีดวัคซีนโควิดทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 4 เข็ม หากเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ตามข้อแนะนำด้านวิชาการในปัจจุบันของไทย