“อนุทิน” ยันมาตรการรับทัวร์จีน ยึดหลักแพทย์เท่าเทียม แนะรับวัคซีน-ซื้อประกันก่อนมา
วันที่ 4 ม.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ.ครั้งแรกของปี ถึงการเตรียมความพร้อมการรับนักท่องเที่ยวจีน ว่า วันที่ 5 ม.ค. เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว
โดยจะใช้หลักการแพทย์และสาธารณสุขเป็นหลักการวางมาตรการ คณะกรรมการวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีการประชุมสัปดาห์ก่อน มีความเห็นว่า ประเทศไทยนั้นการปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลก ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกจำเพาะเจาะจง
สธ.และกรมควบคุมโรคในฐานะผู้รับผิดชอบก็วางมาตรการต่างๆ มา เมื่อมีนโยบายเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย กรมควบคุมโรคได้รับการมอบหมายให้ไปเตรียมการ ซึ่งปราศจากความกดดันใดๆ
“กรมควบคุมโรคเสนอมาตรการต่างๆ มา ไม่ได้ถูกฝ่ายรัฐบาลหรือรัฐมนตรีกดดันว่าต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น เอาเงินเอาเศรษฐกิจไว้ก่อน ไม่มีเลย เหมือนให้กรมควบคุมโรคเสนอมาเลยทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้ง 2 มิติ ทั้งเศรษฐกิจเดินไปได้ ความพร้อมดูแลรักษาสุขภาพประชาชนก็ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการหารือกับคณะกรรมการวิชาการ ที่มีอาจารย์แพทย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโรคระบาดต่างๆ ก็เห็นตรงกันว่า ประเทศไทยยังสามารถบริหารสถานการณ์โควิดได้ และเพื่อไม่ให้เป็นประเด็นอ่อนไหวในทุกด้าน และพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่างๆ ในการรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จะไปปฏิบัติแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่จะทำให้เกิดความยุ่งยาก เชื่อมั่นว่า ใครก็ตามที่เข้ามาก็ใช้มาตรฐานเดียวของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ
เมื่อถามว่า พิจารณาจากข้อมูลแล้ว จีนมีความเสี่ยงแตกต่างจากประเทศอื่นหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องของสายพันธุ์โควิด ไม่มีอะไรแตกต่าง เป็นโอมิครอน เรื่องภูมิคุ้มกันก็ไม่แตกต่าง จำนวนผู้ติดเชื้อก็อยู่ในระดับเดียวกับคนไทย แล้วไม่แตกต่างจากเชื้อที่มาจากภูมิภาคอื่น
ไม่ได้หมายความว่าเชื้อมาจากจีนต้องปฏิบัติคนจีนเป็นพิเศษ เชื้อมาจากหลายแหล่งจากทางตะวันตกก็มี และยังเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่วัคซีนครอบคลุมอยู่ ไม่ว่ามาจากไหน จากตะวันออก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี กัมพูชา เวียดนาม หรือฝั่งตะวันตก พม่า อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา หรือสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ก็อยู่บนพื้นฐานเดียว สิ่งสำคัญคือทุกคนได้รับวัคซีนแล้วถ้ามีการติดเชื้อ ก็มีสถานพยาบาล ยา แพทย์ที่ให้คำแนะนำดูแล
ถามถึงมาตรการที่คงไว้อยู่ของทุกประเทศ นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้ข้อแนะนำคือ การฉีดวัคซีน และมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโควิด เหมือนเราไปเที่ยวต่างประเทศ ถ้าซื้อประกันสุขภาพก็สบายใจระดับหนึ่ง เข้า รพ.ก็มีคนคอยดูแล
เชื่อว่า นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็คงคิดเช่นนั้น ยิ่งตอนนี้มีการระบาดของโควิดอยู่เยอะ คนที่จะไปเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาในไทย ก็มีประกันสุขภาพ เราให้การดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่ก่อนมีโควิด จนมีโควิดก็ให้การดูแล ไม่อยากให้ป่วยและเข้าไม่ถึง รพ.
แต่หากการประชุมวันที่ 5 ม.ค.กำหนดให้เป้นมาตรการก็ต้องปฏิบัติเหมือนกันกับทุกประเทศ ส่วนที่มีความประสงค์รับวัคซีนในไทยก็สามารถรับได้ แต่คงไม่ฟรี ก็ต้องคิดค่าบริการที่เหมาะสมที่ไม่ให้เป็นภาระของประเทศ
ถามถึงวัคซีนบูสเตอร์โดสในปี 2566 นายอนุทินกล่าวว่า ยังเหมือนเดิม คนไทยควรได้รับเข็มบูสต์ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิต ส่วนวัคซีน Bivarient มีการจัดหาเข้ามาในระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นการรับบริจาคจากประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดี
แต่ยืนยันว่า วัคซีนที่ไทยใช้อยู่ยังมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่แตกต่างจากวัคซีน Bivarient เมื่อใดที่มีความต้องการวัคซีนชนิดใหม่ๆ มีสายพันธุ์ใหม่มีวัคซีนที่ครอบคลุมป้องกันสายพันธุ์ได้มากกว่าที่มีในปัจจุบัน ก็พร้อมจัดซื้อจัดหาเข้ามา
แต่ปัจจุบันเรามีของดีและได้ผลอยู่แล้ว สังเกตจากสถานการณ์ปัจจุบันที่เราควบคุมได้ก็ต้องใช้ของที่มีอยู่ให้คุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดงบประมาณ เอาไปใช้พัฒนาบ้านเมืองเรื่องอื่นๆ
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโควิด 19 กรมควบคุมโรค จะเปิดศูนย์ติดตามสถานการณ์นักท่องเที่ยวที่ป่วยโรคโควิด 19 ออกมาจากคนไทยที่ป่วย เพื่อให้เห็นภาพว่า นักท่องเที่ยวมามากขึ้น ชาติไหนที่ป่วยมากขึ้นหรือไม่ และเกินสัดส่วนคนไทยหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะไป รพ.เอกชนก็ต้องหารือกับทางเอกชนเพิ่ม หากมีจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นมากๆ หรือสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป ก็จะได้ทบทวนและปรับมาตรการต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีการเก็บระบบน้ำของเครื่องบินเพื่อตรวจหาสายพันธุ์ ซึ่งที่ดำเนินการก็เป็นไวรัสสายพันธุ์ที่มีในบ้านเรา และจะติดตามเช่นนี้ทุกสัปดาห์ ส่วนการตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิที่สนามบินนั้น เดิมเรายกเลิกไปเนื่องจากมีข้อมูลว่าประโยชน์ไม่มาก และเป็นคอขวดให้คนมากองกัน เพราะข้อมูลพบว่าไข้ขึ้นน้อยมาก เราจึงใช้บัตรแนะนำสุขภาพ (Health Beware Card) ว่าป่วยต้องทำอย่างไร
“นักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในไตรมาสแรกมีเพียง 5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยดูจากจำนวนเที่ยวบิน การออกวีซ่า การขอออกจากประเทศ คือ ประมาณ 3 แสนคน โดย ม.ค.คาดว่า 6 หมื่นคน ก.พ. 9 หมื่นคน และ มี.ค. 1.5 แสนคน ทำให้เราประเมินได้ว่านักท่องเที่ยวชาติต่างๆ มีความแตกต่างกันหรือไม่ในการติดเชื้อ ซึ่งสายพันธุ์ก็ยังเหมือนกัน จำนวนผู้ติดเชื้อก็ไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่น จำนวนรับวัคซีน 2 เข็มก็ค่อนข้างมาก 90% ก็ไม่น่าจะมีความแตกต่างจากคนไทย” นพ.ธเรศกล่าว
นพ.ธเรศกล่าวว่า ที่เราแนะนำให้ซื้อประกัน ก็เพื่อประโยชน์ต่อตัวเขาและภาครัฐหากติดเชื้อภายในประเทศ และก่อนกลับประเทศจีนกำหนดให้ตรวจ RT-PCR ถ้าไม่ได้ซื้อประกัน ตรวจแล้วเกิดติดเชื้อก็อาจจะเป็นภาระกับตัวนักท่องเที่ยวเอง แต่ที่ทราบช่วงแรกที่จะเดินทางมาคงไม่ได้เดินทางมาเป้นกรุ๊ปใหญ่ จะเป็นลักษณะมาทำธุรกิจ มาเยี่ยมญาติและการศึกษา
ส่วนการจะมาฉีดวัคซีนในไทยเรากำลังหารือวิธีปฏิบัติจะกระจายวัคซีนอย่างไร ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายค่าบริการ โดยเบื้องต้นจะเปิดศูนย์ที่ รพ.บางรัก ซึ่งเคยเป็นศูนย์ให้วัคซีนชาวต่างชาติอยู่แล้ว