ปลัด สธ. กำชับทุกจังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ PM 2.5 หากเกินเกณฑ์มาตรฐานให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ รับมือ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับทุกจังหวัดเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนจากผลกระทบฝุ่น PM 2.5 หลังสถานการณ์ค่าฝุ่นเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากเกินเกณฑ์มาตรฐานให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขบริหารจัดการสถานการณ์ เผยขณะนี้มี 23 จังหวัด เตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯแนะประชาชนตรวจสอบค่าฝุ่นและปรับกิจกรรมการดำเนินชีวิต
วันที่ 24 ม.ค. 66 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากจังหวัดใดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกิน 51 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center : PHEOC) เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ส่วนจังหวัดที่มีค่า PM 2.5 ระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ให้เปิดศูนย์บัญชาการสถานการณ์ (OC) ระดับจังหวัดรองรับ รวมถึงให้เร่งรัดสื่อสารความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 แจ้งเตือนถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ โดยขณะนี้มี 24 จังหวัด ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สระแก้ว ขอนแก่น และ กทม. ซึ่งจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ แล้ว ส่วนอีก 23 จังหวัด อยู่ระหว่างเฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากระบบรายงานสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 24 มกราคม 2566 พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ รวม 212,674 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 96,109 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ ได้ให้สถานพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อม ยาและเวชภัณฑ์ เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยจากปัญหามลพิษทางอากาศแล้ว ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่จากแอปพลิเคชัน Air4Thai พร้อมกับปรับกิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน หากค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ขอให้ลดกิจกรรม/การออกกำลังกายกลางแจ้ง หากต้องอยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นสูง ควรใส่หน้ากากชนิด N95 และไม่ควรอยู่เป็นเวลานาน สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ ส่วนอาการที่เกิดจากผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 อาทิ แสบตา แสบจมูก อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดศีรษะ อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง ซึ่งหากอาการไม่ทุเลาควรไปพบแพทย์