“หมอธีระ” เตือนทั่วโลกติดเชื้อโควิดมากขึ้น ให้ประชาชนป้องกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ติดเชื้อ-ไม่ติดซ้ำย่อมดีที่สุด
วันที่ 14 เม.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 51,526 คน ตายเพิ่ม 172 คน รวมแล้วติดไป 685,347,661 คน เสียชีวิตรวม 6,840,429 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.61 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.16
…เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรายงานเคสสูงขึ้นมาก
องค์การอนามัยโลกเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดเมื่อคืนนี้ใน WHO Weekly Epidemiological Update วันที่ 13 เมษายน 2566 ในรอบ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกมีการรายงานจำนวนเคสใหม่ และจำนวนเสียชีวิตลดลงกว่าช่วงเดือนก่อนหน้า ยกเว้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ทั้งนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการรายงานเคสใหม่เพิ่มขึ้นถึง 481% และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 109% ในขณะที่แถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก มีรายงานเคสเพิ่มขึ้น 144% และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 138%
…อัพเดตสายพันธุ์ที่ระบาด (ภาพที่ 1 และ 2)
ปัจจุบันทาง WHO กำลังติดตามเฝ้าระวัง Omicron 7 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ XBB.1.5 (จัดเป็น Variant of Interest: VOI), และอีก 6 ตัวจัดเป็น Variants under Monitoring: VUM ได้แก่ BA.2.75*, CH.1.1*, BQ.1*, XBB*, XBB.1.16*, XBB.1.9.1*, และ XBF* ทั้งนี้ XBB.1.5 ระบาดไปแล้วราว 95 ประเทศทั่วโลก และครองสัดส่วนการระบาดอยู่ราวครึ่งหนึ่ง (47.9%) โดยมีหลายต่อหลายประเทศทั่วโลกที่รายงานการตรวจพบ XBB.1.5 เกินกว่า 50% ของการระบาดในประเทศ เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนการสุ่มตรวจสายพันธุ์ของหลายประเทศ รวมถึงไทย มีจำนวนน้อยเกินกว่าที่จะประเมินสัดส่วนของสายพันธุ์ที่ระบาดได้
…รายงานสายพันธุ์ในประเทศต่างๆ (ภาพที่ 3, 4, 5)
สถานการณ์ในญี่ปุ่นขณะนี้ Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.x นั้นครองสัดส่วนเกินกว่าครึ่งไปแล้ว เฉกเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เช่น เบลเยี่ยม และออสเตรีย สะท้อนให้เห็นว่า XBB.x นั้นเป็นสายพันธุ์ย่อยหลักของการระบาด และกระตุ้นเตือนให้เราระมัดระวัง ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากดื้อต่อภูมิคุ้มกันมาก นอกจากนี้ยังดื้อต่อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดี้ที่ใช้รักษาผู้ป่วยหลากหลายชนิดด้วย
ไม่ติดเชื้อหรือไม่ติดซ้ำ…ย่อมดีที่สุด
…การติดเชื้อโควิด-19 จะเสี่ยงต่อโรคภูมิต่อต้านตนเองหลายชนิด
วารสารการแพทย์ Nature Reviews Rheumatology วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา เน้นย้ำให้ตระหนักถึงผลกระทบหลังจากที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคภูมิต่อต้านตนเองได้มากขึ้นกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อได้ถึง 2-3 เท่า ภายใน 6 เดือนหลังจากติดเชื้อ เช่น เบาหวานชนิดที่ 1, ข้ออักเสบรูมาตอยด์, เอสแอลอี (SLE), ภาวะอักเสบของหลอดเลือด (vasculitis), และลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease) และมีการศึกษาติดตามนานไปถึง 3-15 เดือน พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วกลุ่มคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคภูมิต่อต้านตนเองชนิดต่างๆ ได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อถึง 42.6%
ผลการศึกษาต่างๆ ข้างต้น สอดคล้องกับงานวิจัยอื่นทั่วโลกที่ชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันตามมาได้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในคำอธิบายปัญหา Long COVID ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลกด้วย
…สำหรับไทยเรา
ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท
เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
High risk of autoimmune diseases after COVID-19. Nature Reviews Rheumatology. 12 April 2023.