“หมอธีระ” เตือนติดโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องชิล ต้องป้องกันเสมอ เมื่อออกนอกบ้าน
วันที่ 3 พ.ค. 66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า วันนี้ตรวจคนไข้ พบปะเพื่อนพ้องน้องพี่หลายคน และได้รับทราบข่าวคราวหลายคนจากโซเชียลด้วย มีติดกันทั้งครอบครัว หลายต่อหลายครัวเรือน ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ บางบ้านติดจากลูกหลาน และกระจายไปทั้งครอบครัว
บางบ้านติดจากผู้สูงอายุที่ไปสังสรรค์กับเพื่อนนอกบ้าน แล้วนำมาติดคู่สมรสที่สูงอายุเช่นกัน ที่น่าห่วงคือกว่าครึ่งของคนที่ติดเชื้อล้วนส่งเสียงเตือนว่าติดแล้วป่วยเยอะ อาการมาก หนักกว่าที่เค้าคาดคิด หลายคนไข้สูงลอย วูบ เดินเหินไม่ไหว หรือหนักกว่านั้น ผู้สูงอายุบางคนติดแล้วลงปอด ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ นอนไอซียูก็มี
จึงอยากนำมาย้ำเตือนพวกเราทุกคน ให้ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอครับ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างตะลอนนอกบ้าน มีความสำคัญมาก ไม่สบาย ควรแยกตัวไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน จะได้ไม่เสี่ยงแพร่เชื้อในวงกว้าง ทั้งในบ้าน ที่ทำงาน และที่สาธารณะ เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ
ทั้งนี้ ยังโพสต์อัปเดตสถาณการ์ณโควิด-19 ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 45,399 คน ตายเพิ่ม 208 คน รวมแล้วติดไป 687,262,526 คน เสียชีวิตรวม 6,866,945 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.24 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.71
กรณีศึกษาระบาดที่ประชุมของ US CDC
เมื่อวานนี้ The Washington Post รายงานข่าวเกี่ยวกับการระบาดที่เกิดขึ้นในการประชุมใหญ่ 2023 Annual Epidemic Intelligence Service (EIS) Conference ที่จัดโดย US CDC ระหว่าง 24-27 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา มีการสอบสวนโรคแล้วพบว่า เกิดการแพร่เชื้อติดเชื้อกันไปอย่างน้อย 35 ราย ระหว่างที่มีการประชุม
ทั้งนี้เนื่องจากมีคนที่มาประชุมจำนวนมาก และไม่ป้องกันตัว ไม่ใส่หน้ากาก ไม่เว้นระยะห่าง ถือเป็นกรณีตัวอย่างของการระบาดที่เกิดขึ้นในกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก เช่น การจัดประชุม และสะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมว่า การระบาดในชุมชนยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ยามใดที่จะมีคนรวมกันจำนวนมากอยู่และทำกิจกรรมด้วยกันนาน ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่เชื้อติดเชื้อจำนวนมากได้
นี่คือเรื่องสำคัญที่ไทยเราควรเรียนรู้ และควรช่วยกันกระตุ้นเตือน ทั้งผู้จัดกิจกรรม และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้ป้องกันตัว ใส่หน้ากาก ระวังกิจกรรมเสี่ยง ปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศให้ดี รวมถึงการคัดกรอง แนะนำให้ผู้ที่มีอาการไม่สบาย หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรม และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประชุม สัมมนา คอนเสิร์ต และอื่นๆ
ติดแต่ละครั้งไม่ใช่ชิลๆ แล้วหายแต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยง Long COVID ด้วย เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้กับคนอื่นนอกบ้าน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนั้นสำคัญมาก ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด