สธ.เตรียมขับเคลื่อนสู่ระบบสุขภาพดิจิทัล ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพสะดวก ระบบข้อมูลปลอดภัย
กระทรวงสาธารณสุข ระดมผู้บริหารและทีมเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมวางแนวทางขับเคลื่อนระบบสุขภาพเข้าสู่การเป็นระบบสุขภาพดิจิทัล ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ทำงานสะดวก รวดเร็ว ภายใต้การเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพที่มีเสถียรภาพและความปลอดภัย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารระบบสุขภาพดิจิทัล กระทรวงสาธารณสุข” ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายในการพัฒนาเข้าสู่การเป็นระบบสุขภาพดิจิทัล โดยร่างยุทธศาสตร์สุขภาพดิจิทัล พ.ศ.2566-2570 ได้กำหนดแผนปฏิบัติการย่อย 5 แผน ได้แก่ 1) การสร้างเสริมธรรมาภิบาลระบบสุขภาพดิจิทัล โดยมีการจัดตั้งสำนักงานสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติ พัฒนาการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ พัฒนากฎหมายสุขภาพดิจิทัล 2) การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติและระบบนิเวศสุขภาพมีการกำหนดแพลตฟอร์ม กำหนดมาตรฐานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของระบบสุขภาพดิจิทัล 4) การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ และ 5) การพัฒนาคนให้พร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นการเข้าใช้ระบบสุขภาพดิจิทัล ปรับการจัดบริการและระบบบริหารจัดการทรัพยากรด้านสุขภาพดิจิทัล พร้อมทั้งกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละแผนฯ และภาคีเครือข่ายที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย
“การออกแบบระบบสุขภาพดิจิทัล มุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ก็ทำงานได้สะดวกรวดเร็ว โดยคำนึงถึงเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะมีความปลอดภัย” นพ.โอภาสกล่าว
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารระบบสุขภาพดิจิทัลกระทรวงสาธารณสุข” มีผู้บริหารและบุคลากรที่ดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จากหน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุมจำนวน 50 คน ร่วมระดมสมองกำหนดกลยุทธ์ระบบสุขภาพดิจิทัล 5 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI), ระบบคลังข้อมูลและมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ (Big DATA), โครงสร้างพื้นฐานและความปลอดภัย, เทคโนโลยีดิจิทัลสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพดิจิทัล