คกก. เห็นชอบเพิ่ม “โรคจากรังสีแตกตัว” เป็นโรคจากการประกอบอาชีพฯ ให้อำนาจประกาศเขตพื้นที่ เฝ้าระวัง ควบคุมฝุ่น PM2.5
คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เห็นชอบประกาศเพิ่ม “โรคจากรังสีแตกตัว” เป็นชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม หลังเกิดสถานการณ์ “ซีเซียม-137” พร้อมประกาศพื้นที่เขตพื้นที่เฝ้าระวัง ควบคุม ควบคุมสูงสุดกรณีฝุ่น PM 2.5 ผ่านกลไก ครม.เห็นชอบระดับประเทศ และผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด/กทม. ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคประกาศ เพื่อให้เกิดการกำหนดมาตรการลดผลกระทบ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม มีการหารือถึงการดำเนินงานในปี 2566 ที่ได้วางกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 ซึ่งเน้นเรื่องการสื่อสารสร้างการรับรู้รับทราบ ทดลองฝึกปฏิบัติขับเคลื่อนรูปแบบกลไกการดำเนินงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีอนุบัญญัติที่มีผลบังคับใช้แล้ว 16 ฉบับ ช่วยยกระดับการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงจะได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทันท่วงที และยังมีกฎหมายที่อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี 4 ฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำอีก 3 ฉบับ
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯ ยังได้ให้ความเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ 1.การประกาศกำหนดชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม โดยเพิ่ม “โรคจากรังสีแตกตัว” เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์เรื่องสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ทำให้สังคมเกิดความกังวล ซึ่งเมื่อถูกกำหนดไว้ตามกฎหมายแล้ว จะทำให้มีแนวทางจัดการสารกัมมันตรังสีและการตอบโต้ได้ทันสถานการณ์ หากพบผู้ที่มีอาการเข้าได้กับนิยามอาการสำหรับการเฝ้าระวัง เช่น มีตุ่มน้ำ มีผื่น มีเรื่องของมะเร็งต่างๆ เป็นต้น จะได้เกิดการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ แต่ย้ำว่าไม่ใช่อาการสำหรับวินิจฉัยขั้นสุดท้ายว่าเป็นโรค ทั้งนี้ การเฝ้าระวังมีความสำคัญเพราะบางครั้งการเกิดโรคขึ้นมาคนเดียวจะไม่ผิดสังเกต แต่หากเกิดพร้อมกันหลายคนในช่วงเวลาเดียวกัน มีปัจจัยเสี่ยงเดียวกัน จะเป็นความสำคัญทางระบาดวิทยา ที่ต้องไปหาสาเหตุจบพบต้นตอ และการที่ต้องแยกมาเป็นโรคจากการประกอบอาชีพฯ ก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการชดเชยและทดแทน ในส่วนของกฎหมายด้านแรงงานด้วย ขณะนี้ได้ให้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในเรื่องของคำศัพท์เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ก่อนที่จะออกเป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมต่อไป
และ 2.การประกาศเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กรณีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 แบ่งกลไกการออกประกาศเป็น 2 ส่วน คือ การใช้มาตรา 14 (2) คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เป็นการเฉพาะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเฝ้าระวังในภาพรวมระดับประเทศหรือหลายจังหวัดรวมกัน และการใช้มาตรา 35 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเกิดหรือก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในเขตพื้นที่ ให้อธิบดีกรมควบคุมโรค หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคมอบหมาย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ จังหวัด/กทม. มีอำนาจประกาศเขตพื้นที่ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพหรือโรคจากสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประกาศยกเลิกเมื่อมีเหตุอันสมควรหรือสภาวการณ์ของโรคนั้นสงบลง
ทั้งนี้ การประกาศกำหนดเขตพื้นที่ ให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเฝ้าระวังการป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพหรือโรคจากสิ่งแวดล้อม ที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำหรับเขตพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะ หรือกำหนดมาตรการอื่นใดที่เหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะได้ เช่น ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท้องถิ่นและประชาชนต้องทำอะไร ถ้าไม่ทำจะมีบทลงโทษอย่างไร คล้ายการควบคุมโรคโควิด 19 ซึ่งมาตรการจะดูทั้งเรื่องการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ การป้องกัน และการรักษา ซึ่งต้องใช้กับกฎหมายหลายฉบับมาประกาศร่วมกัน นอกจากนี้ ยังสามารถประกาศกำหนด ประเภท ขนาด และลักษณะของแหล่งกำเนิดมลพิษ และประเภทหรือกลุ่มของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือตัวเลขค่าฝุ่น PM 2.5 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ของการประกาศว่าเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวัง เขตพื้นที่ควบคุม หรือเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด