โฆษก สธ. แจง 4 ข้อ หลัง “เพจชมรมแพทย์ชนบท” พาดพิง สธ. ทุจริตวัคซีน-เอทีเค
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงความจริงกรณีเพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ประเด็นการเมืองพาดพิงกระทรวงสาธารณสุข กล่าวหามีการทุจริตจัดซื้อวัคซีน-เอทีเค ชี้อ้างเลื่อนลอย ไร้หลักฐาน ยันจัดหาวัคซีนฉีดได้ครอบคลุมตามแผน ช่วยคนรอดชีวิตได้กว่า 5 แสนคน อัตราตายต่ำกว่านานาชาติ ส่วนเอทีเค องค์การเภสัชกรรมจัดซื้อโปร่งใส
วันที่ 16 พ.ค. 66 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ประเด็นการเมืองไม่ให้พรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาล ว่า แม้จะแสดงความเห็นทางการเมือง แต่มีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตเรื่องการจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 และการจัดหาเอทีเค ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องชี้แจงเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดดังนี้
1.การกล่าวหาว่ามีการทุจริตเรื่องวัคซีนโควิด 19 เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย ไม่มีมูล ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ตรวจสอบการทุจริตหลายหน่วยงาน หากมีหลักฐานว่ามีการทุจริตอย่างที่กล่าวหาจริงคงมีการยื่นฟ้องดำเนินคดีไปแล้ว
2.เรื่องประสิทธิภาพการจัดหาวัคซีนและการให้บริการ ที่มีการโจมตีว่าล้มเหลว ข้อเท็จจริงคือ ไทยสามารถให้บริการวัคซีนโควิด 19 ได้ครบ 100 ล้านโดส ตามเป้าหมาย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม โดยมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ ณ ช่วงเวลาที่มีการระบาดใหญ่ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่านานาชาติ และยังมีผลวิจัยว่าลดการสูญเสียชีวิตประชาชนได้กว่า 5 แสนคน ช่วยให้ประชาชนรอดพ้นจากการเจ็บป่วยรุนแรงอีกเป็นจำนวนมาก โดยวัคซีนที่ไทยนำมาใช้ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์มหาวิทยาลัย ต่างยืนยันว่ามีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์จริง นอกจากนี้ ไทยยังได้เป็นฐานการผลิตวัคซีนของ AstraZeneca ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศด้วย
3.เรื่องทุจริตการจัดหา ATK ข้อเท็จจริงคือ ปรากฏหลักฐานว่ามีความพยายามจะล็อกสเปกการจัดซื้อ จนกระทั่งองค์การเภสัชกรรมต้องยื่นเรื่องกับ ปปช. ให้ตรวจสอบ จึงขอยืนยันความโปร่งใสขององค์การเภสัชกรรม
4.การทำงานของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยก้าวข้ามวิกฤตโควิด 19 ด้วยความบอบช้ำน้อยมาก เมื่อเทียบกับทั่วโลก จนได้รับยกย่องให้เป็นประเทศที่มีค่าความมั่นคงด้านสุขภาพสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย เป็นหนึ่งในประเทศที่ WHO ยกให้เป็นต้นแบบการรับมือกับโรคระบาด และได้รับการยอมรับจากอาเซียน ให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED)
“ขอยืนยันว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ทำงานอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่วนบุคลากรที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ให้ข้อมูลเท็จทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสื่อมเสีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว” นพ.รุ่งเรืองกล่าว