กรมอนามัย เผยแนวโน้มป่วยโควิดพุ่ง ย้ำให้ประชาชนเข้มมาตรการลดติดเชื้อ
วันที่ 6 มิ.ย. 66 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ของ สธ. ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2566 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 2,352 คน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2566 จำนวน 2,632 คน และวันที่ 21-27 พฤษภาคม 2566 มีจำนวน 2,970 คน ส่งผลให้ขณะนี้ ผู้ป่วยสะสม จำนวน 18,039 ราย และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ปอดอักเสบ 425 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 253 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิต ตั้งแต่วันที่ 7-27 พฤษภาคม 2566 จำนวน 128 ราย กระจายในไปหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยการติดเชื้อส่วนมากพบในพื้นที่เรือนจำ โรงเรียน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สถานที่ทำงาน และชุมชน ทั้งนี้ กรมอนามัยจึงขอเน้นย้ำให้สถานประกอบการและประชาชนยังคงเฝ้าระวัง และป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสถานประกอบการ หรือสถานที่ที่มีประชาชนเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก
นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยได้มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์อนามัยทุกแห่งประสานการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาคการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสื่อสาร สร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับสถานประกอบการ สถานบริการ และประชาชน โดยสถานประกอบการ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ยึดหลักจัดการด้านสุขอนามัย สุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี คือ
1.ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ดูแล รักษา และหมั่นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม รวมทั้งห้องน้ำห้องส้วมที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนผู้รับบริการอย่างสม่ำเสมอ กรณีสถานประกอบการเป็นระบบปรับอากาศ ต้องจัดระบบระบายอากาศภายในที่ดี จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมมีอุปกรณ์ล้างอย่างเพียงพอ
2.ด้านพนักงานและผู้ปฏิบัติงาน มีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ ป่วยควรหยุดปฏิบัติงาน พนักงานที่สัมผัสอาหารให้สวมหน้ากากขณะให้บริการ
“สำหรับประชาชน แนะนำสวมหน้ากากทุกครั้งเมื่ออยู่ในพื้นที่คนหนาแน่น หรือพื้นที่ปิดที่อากาศไม่ถ่ายเท หากมีอาการไม่สบายหรือเป็นไข้ควรสวมหน้ากากเมื่อออกไปนอกบ้าน หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสจุดสัมผัสร่วม และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบตามเกณฑ์หรือกรณีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ” นพ.สุวรรณชัยกล่าว