“ภูมิธรรม” ชูสมัชชาสุขภาพฯ หวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพ เพื่อปชช.เข้าถึงอย่างเท่าเทียม
สช.จับมือภาคีเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ด้าน “ภูมิธรรม” ชูสมัชชาสุขภาพฯ หวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพ เพื่อปชช.เข้าถึงอย่างเท่าเทียม
วันที่ 21 ธ.ค. 66 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย”
นายภูมิธรรม กล่าวในบางช่วงว่า ขอบคุณผู้จัดและองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งหมดที่ทำให้งานวันนี้เกิดขึ้น และให้โอกาสได้มาพบปะกับภาคีเครือข่าย ได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นซึ่งคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในสังคมประชาธิปไตย ที่ทุกคนล้วนอยู่กันได้แม้ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมาเราใช้ความเป็นประชาธิปไตย ไม่ครบทุกด้าน ความเป็นประชาธิปไตย คือ การเคารพความเห็นที่แตกต่างและยอมให้ความเห็นที่แตกต่างมีโอกาสได้มีพื้นที่ในการที่จะแสดงและ สามารถดึงความเห็นที่แตกต่างในสังคมหาจุดร่วมในสังคม ซึ่งนี่ถือเป็นเครื่องเตือนใจที่เป็นการพัฒนาของการเริ่มต้น สมัชชาสุขภาพแห่งนี้ ต้องยอมรับว่าองค์กรสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีพัฒนาการสุขภาพที่เติบโตมาจากสาธารณสุข แต่สมัชชาสุขภาพไปไกลกว่าสาธารณสุข เพราะสามารถเชื่อมโยงสิ่งนี้มาใช้ในการพัฒนาสังคมและสร้างความหวังได้
ทราบว่าการทำงานของคณะกรรมการต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำงานอยู่หลายเดือน รวมพลังจากทุกส่วนช่วยกันทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะรูปธรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้สะท้อนถึงความตั้งใจและความพยายามของทุกส่วน สมัชชาสุขภาพวันนี้เราจัดขึ้นภายใต้ สุขภาพโอกาสและความหวังของประเทศไทย เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องพื้นฐานและใกล้กับตัวใกล้กับชีวิตของผู้คนที่สุด การที่บูรณาการแล้วยกเรื่องสุขภาพมาเชื่อมโยงกับพื้นฐานต่างๆ เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก สามารถใช้สุขภาพมาเชื่อมบูรณากับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้กระทบต่อการใช้ชีวิตของความเป็นอยู่ของประชาชนกระทบต่อระบบสิ่งแวดล้อมระบบเศรษฐกิจ ทั้งหมดการเชื่อมโยงนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต คิดว่าเราเดินมาถูกทางแล้วประชาชนที่เป็นเครือข่ายสุขภาพมีความหวังและมองว่าจุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้งที่จะก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้า
ในฐานะเป็นประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ถือว่าการประชุมวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการสร้างโอกาสเพื่อจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การปรับเปลี่ยน ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 มาสู่ฉบับที่ 3 อย่างเป็นทางการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ส่วนต่างๆของสังคมที่จะร่วมกันพัฒนากรอบความคิดภาพอนาคตในทุกๆด้านที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสุขภาพ 4 มิติด้วยกัน คือ มิติทางกาย มิติทางจิต มิติทางปัญญา และมิติทางสังคม ทั้งหมดเป็นองค์รวมที่จะทำให้ระบบสุขภาพและสังคมได้รับการเดินไปข้างหน้าพัฒนาไปสู่อนาคตได้
นอกจากนี้ สิ่งที่คณะกรรมการดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันและมีทิศทางที่จะดำเนินการในการที่มีส่วนร่วมในกานดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ การมีส่วนในการชูบทบาท วัด แล้วผสมให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สังคมไทยแต่โบราณ ศาสนาและพระศกเป็น ศูนย์กลางที่เป็นจุดรวมของชุมชนและก็ได้มีส่วนพัฒนาชุมชนให้ก้าวไปข้างหน้ามาตลอดเป็นที่ประชาชนพึงหวังได้ทั้งทางจิตใจความสงบทั้งด้านการศึกษา ล้วนแต่เป็นจุดศูนย์ กลางที่มีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นการที่หวนกลับไปหาจุดที่เป็นรากฐานของสังคมคิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีที่เราน่าจะสนับสนุนและช่วยกันส่งเสริมให้มันก้าวไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นการพัฒนาที่เริ่มต้นจากภายในที่เริ่มต้นจากศูนย์กลางของประเทศที่มีอยู่ เป็นการพัฒนาที่อยู่บนรากฐานเดิมซึ่งจะไม่แตกต่างแปลกแยกไปจากชีวิตวิถีของเรา สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่โดยมีรากฐานเดิมที่เข้มแข็งจะสร้างพลังภายในให้แข็งแรงมากขึ้น
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาประเทศเราพบกับภัยคุกคาม หลายด้านไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นการที่เราเผชิญกับปัญหาแบบนี้ประชาชนจะอยู่ในความเครียดในการที่ต้องเผชิญแต่เพียงลำพัง คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ในการที่จะระดมกำลังเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยกัน ทำให้พลังนี้สามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆได้ ในฐานะรัฐบาลยืนยันว่า เราจะวางตัวเป็นรัฐที่สนับสนุนไม่ใช่รัฐที่เป็นอุปสรรค เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างวันนี้ที่รัฐบาลพยายามจะแก้ไขกฎระเบียบและเงื่อนไขปัจจัยต่างๆเพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและก็เข้าถึงสิ่งต่างๆ จะเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดีว่าสิ่งที่เป็นปัญหาและความหวังที่เราอยากเห็นมันจะเกิดขึ้นได้
วันนี้เราต้องยอมรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรววเร็วและต้องรู้ว่าประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ระบบสุขภาพเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆของโลก ที่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน นอกจากทางการเมืองทางสังคมหรือทางเศรษฐกิจแล้ว จะเห็นได้ว่าวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงทุกๆเรื่อง เช่น สงครามไทยยูเครนมีผลกระทบกับทุกด้าน สงครามที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์มีปัญหาเกิดขึ้นกับทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องการเกิดขึ้นของโรคระบาดโควิด19 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นว่า ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆอย่างในชีวิต แต่ก็ไม่ได้มีเรื่องเสียหายอย่างเดียว เพราะโควิด19 เป็นที่มาของการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ วันนี้ไม่ใช่แค่อยู่ในห้องประชุมนี้ แต่สามารถประชุมได้ทั่วประเทศ ซึ่งถ้าไม่มีสิ่งนี้เราก็คงต้องเดินทางกลับไปแล้วมานั่งประชุมสมัชชาและโชว์ภาพของคนที่มารวมกันอย่างนี้เหมือนเดิม
นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกเรื่องคือสังคมเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย เรามีคนสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวันนี้ชนบทกลายเป็นโรงเรียนเด็ก เพราะลูกหลานต้องไปต่อสู้ทำมาหากินเพื่อจะหาเงินกลับเข้ามา แล้วก็เป็นโรงเรียนเด็กที่ใช้คนชรามาทำหน้าที่ให้กับสังคมโดยที่ไม่ได้มีระบบอะไรไปเคลื่อนหรือดูแลพวกเขาเลย เป็นต้น อีกเรื่องคือประชากรที่เติบโตมาแล้วเป็นคนเมืองที่มีโอกาสก็ยังไม่มีความพร้อมจะเข้ามาศึกษา ทำให้หลายสาขาวิชาต้องปิดตัวลง เพราะฉะนั้น สะท้อนให้เห็นว่าจริงๆคนที่เป็นเยาวชนยังอยากจะเข้ามหาลัยอีกเยอะแต่โครงสร้างประชากรและโครงสร้างทางสังคมเราไม่มีโอกาสให้คนตัวเล็กๆเข้าถึง เพราะฉะนั้นปรัชญาหลายเรื่องต้องเปลี่ยนเพื่อเปิดโอกาสให้คนเข้ามาศึกษาทำให้การเรียนรู้ที่บอกว่าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตแต่ไม่ใช่การเรียนรู้ในระบบการศึกษาต้องเปลี่ยน
“การรักษาสุขภาพมันไม่จำเป็นต้องพึ่งหมอออย่างเดียว อย่างระบบที่ใช้ อสม. ดีอะไรก็ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าจะพัฒนาคุณภาพให้คนเหล่านี้เขาสามารถทำหน้าที่ดูแลชุมชนเข้าได้อย่างแข็งแรงนั้น เป็นปัญหาที่ต้องหาทางออกเพราะฉะนั้นเรื่องของโครงสร้างประชากรเรื่องของความเหลื่อมล้ำยังเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องการสร้างความเป็นธรรมเรื่องการสร้างรากฐานของความเป็นธรรมในประเทศล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหมด หากทำให้ส่วนที่ไร้อำนาจมีอำนาจที่ทัดเทียมกันจะนำไปสู่ผลทางในการแก้ไขปัญหาต่อไปได้ เชื่อว่าประเทศไทยเรายัง มีความหวัง วันนี้ประตูเห็นโอกาสได้เปิดออกแล้วเป็นหนทางให้เราเดินแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะจับมือกันเดินลอดประตูนี้ไปสู่ความหวังได้หรือไม่ความสำเร็จอยู่ที่ตัวท่านไม่ใช่อยู่ที่ใคร”
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนรวมทั้งหมดที่ได้พูดมาคิดว่า การเกิดขึ้นและการกำลังดำเนินการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่พยายามจะสร้างกรอบความร่วมมือกันทุกฝ่ายที่ไม่ได้คำนึงถึงฝ่ายเดียวพยายามจะดึงเอาเครือข่ายประชาชนทุกคน สร้างกระบวนการที่สำคัญเพื่อจะดึงให้ทุกส่วนในสังคมได้มีโอกาสเข้ามาช่วยกันคิดช่วยกันหาทางออกช่วยกันสร้างความหวังเพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม พยายามจะหาหนทางในการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้เป็นทิศทางที่น่ายกย่องและเป็นทิศทางที่น่าชื่นชม อยากให้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ช่วยกันผลักดันให้สิ่งมุ่งหวังเหล่านี้ประสบความสำเร็จ
วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกส่วนในเครือข่ายสุขภาพที่ได้สร้างมา หลังโควิดเราหยุดไปช่วงหนึ่งด้วยปัญหาโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น จากนี้เป็นโอกาสอย่างดี ที่จะช่วยกันในการแก้ไขต่อไป อีกทั้งเราจะลดปัญหาเด็กฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจากระบบสังคมระบบการศึกษา การฆ่าตัวตายของคนที่ไร้ความหวังที่เผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย หวังว่าการสัมมนาครั้งนี้ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและภาคีเครือข่ายทั้งประเทศ จะเป็นสิ่งที่ได้สร้างจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ขอให้การจัดงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จโดยเร็วที่สุด