“หมอรามา” เผยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 2.6 เท่า
“หมอรามา” เผยงานวิจัยใหม่ “บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา” เพิ่มความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเพิ่ม 2.6 เท่า
วันที่ 14 ม.ค. 67 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยงานวิจัยใหม่ที่ยืนยันว่า “บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา” เพราะเพิ่มความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แม้คนสูบจะไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน โดยงานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาจากข้อมูลสำรวจสุขภาพประชากรของสหรัฐอเมริกา (National Health Interview Survey) ปี พ.ศ. 2557-2564 ที่ตัดคนที่มีประวัติสูบบุหรี่ธรรมดาออกทั้งหมด เพื่อลดอคติที่มักจะมีการอ้างว่าเป็นผลกระทบที่อาจเกิดจากที่เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อนที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาทั้งหมด 148,837 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 1,237 คน ผลการศึกษาพบว่า คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนน้อยกว่า แต่กลับพบว่าคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงกว่าถึง 2.6 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญมาก และสอดคล้องกับรายงานวิจัยก่อนหน้าที่รวบรวมผลการศึกษาผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้ากับโรคหัวใจจากทั่วโลกซึ่งให้ผลสรุปตรงกันว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และหากสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงถึง 4 เท่า แต่ที่ผ่านมามักมีข้ออ้างของกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าว่า คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอาจจะเป็นผลมาจากที่อดีตเคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน แต่งานวิจัยนี้ศึกษาในเฉพาะคนที่ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ธรรมดาเลยเพื่อลดอคติตรงนี้ จึงชัดเจนแล้วว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วยตัวมันเอง ผลการศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับการศึกษาทางชีววิทยาซึ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเยื่อบุผนังหลอดเลือด ความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน การอักเสบ และการกระตุ้นเกล็ดเลือด ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดจนนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
“ปัจจุบันเริ่มเห็นผู้ป่วยที่อายุน้อยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อซักประวัติจะพบว่าหลายรายมีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยโรคนี้จะมีอาการ เจ็บแน่นหน้าอก รู้สึกอึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หรือใต้อกค่อนมาทางซ้าย เจ็บลึกๆ หายใจไม่สะดวก อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด บางรายอาจเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือ คอ ซึ่งหากมาพบแพทย์ไม่ทันมีโอกาสเสียชีวิตสูง” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว