ศจย. – สหพันธ์นิสิตฯ ร้องปธ.กมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า “คงกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขาย”
นักวิชาการ เด็ก เยาวชน ยื่นหนังสือถึง ประธานกมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้อง “คงกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” และ “เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วน” พบ! ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์จำนวนมาก
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 67 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ และสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึง ‘นพ.นิยม วิวรรธนดิษกุล ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย’ เรียกร้องฟังเสียงประชาชน ขอให้ ‘คงกฏหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า’ และ ‘เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วน’ เพื่อปกป้องเด็กไทยจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบมีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์จำนวนมาก
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา มีการแต่งตั้ง ‘คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณากฏหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับประเทศไทย” นั้น จึงขอให้อนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ คำนึงถึงข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านในการพิจารณากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อปกป้องเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า เพราะข้อมูลทั่วโลก พบช่วงอายุที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากคือ 15-24 ปี ซึ่งเป็นเยาวชนนักสูบหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ มาตรการบุหรี่ไฟฟ้า แบน vs ควบคุม บทเรียนจากต่างประเทศ สรุปได้ดังนี้
1) ปัจจุบันประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 4 ประเทศในปี 2555 เป็น 37 ประเทศในปี 2566
2) ประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าพบอัตราการสูบของเยาวชนต่ำกว่าประเทศที่ให้ขายถึง 0.6 เท่า
3) ประเทศที่ให้ขายได้ แล้วออกกฎหมายควบคุม เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ปัจจุบันพบว่าคุมไม่ได้จริง อัตราสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนเพิ่มขึ้นมาก และบางประเทศยังพบอัตราสูบบุหรี่มวนเพิ่มอีกด้วย
4) ประเทศที่เคยแบน แล้วเปลี่ยนเป็นให้ขายได้ พบอัตราสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนเพิ่มเป็น 2-5 เท่าตัว เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์
5) องค์การอนามัยโลก สนับสนุนให้ประเทศรายได้น้อยและปานกลาง ใช้มาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องเยาวชน และยังพบประเทศรายได้สูงหลายประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าเพราะต้องการปกป้องเยาวชน เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน ฮ่องกง
“ซึ่งทาง 2 แพร่ง ที่ไทยต้องเลือก จากการทบทวนรายงานสถานการณ์อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนในประเทศต่าง ๆ ที่ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า และไม่ห้าม พบว่า ทางเลือกที่หนึ่ง หากยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แล้วเปิดเป็นบุหรี่ไฟฟ้าเสรี คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเป็นเหมือนแคนาดาและนิวซีแลนด์ โดยอัตราสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยจะเพิ่มขึ้น 2-5 เท่า ใน 3 ปี นั่นคือถ้าใช้ข้อมูล ปี 2564 คือ 8% จะเพิ่มสูงถึง 16-40%” ขณะที่ ทางเลือกที่สอง คงกฏหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฏหมายให้เคร่งครัด ในการจับ ปรับ อย่างจริงจัง ห้ามโฆษณาและห้ามขายโดยเฉพาะในสื่อออนไลน์เหมือนกับที่สิงคโปร์และฮ่องกงดำเนินการ ซึ่งคาดการณ์ว่าอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยจะไม่เพิ่มขึ้นและจะค่อย ๆ ลดลง เหมือนสิงคโปร์ที่ลดลงจาก 11.8% เป็น 10.1% ใน 3 ปี และฮ่องกงลดจาก 10.2% ในปี 2562 เป็น 9.5% หลังจากห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2564” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้กรรมาธิการวิสามัญฯ และอนุกรรมาธิการฯ รับฟังเสียงขององค์กร เยาวชน และประชาชน ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ปกครองและครูต่อนโยบายบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2566 พบว่า ผู้ปกครอง ครู/ผู้บริหารโรงเรียน 91.5% สนับสนุนให้รัฐบาลคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน โดยมีฐานความรู้ความคิดที่มาสนับสนุนคือ 80.7% รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพมีสารพิษและสารก่อมะเร็งหลายชนิด ทั้งนี้ส่วนใหญ่เห็นว่าประโยชน์ทางภาษีหากอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้นั้นไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดย 88.4% เห็นว่าไม่คุ้มค่ากับค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่จะเกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 85% เห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการที่ทำให้เด็กและเยาวชนติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ปกครอง ครู/ผู้บริหารโรงเรียน ได้มีข้อเรียกร้องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย 95.4% เห็นว่าควรเร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษและพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า และ 93% เห็นว่าควรเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าทั้งขายหน้าร้านและสื่อออนไลน์
ตัวแทน เด็ก-เยาวชน แถลงจุดยืนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องป้องกันควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
น.ส.มุทิตา ชาบำเหน็จ ผู้แทนโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ กรุงเทพฯ ภายใต้สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในสภาวะที่บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสังคมไทย แต่ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่แยบยลที่มีการออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เป็นตัวการ์ตูน ของเล่น และกล่องนม ซึ่งมีการแพร่กระจายเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้โดยง่าย ทั้งช่องทางสื่อออนไลน์และการวางขายในท้องตลาดอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้น พวกเราจึงแถลงจุดยืนว่า ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้โปรดป้องกันควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า โดยขอให้รัฐยังคงกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า
นายพีพี บำรุงประเสริฐ ผู้แทนโรงเรียนเซนต์คาเบรียลและโรงเรียนในเครือของมูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ภายใต้สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เด็กและเยาวชนไทยกำลังตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากมีการแอบพกพาและสูบในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกโรงเรียน พวกเขาอยู่ในวัยอยากรู้อยากลองที่มองข้ามพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า พวกเราตระหนักถึงสภาวการณ์ปัญหานี้ เพราะในขณะที่ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า หากแต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ และมีแนวโน้มแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นพวกเราจึงร่วมแถลงจุดยืนว่า ขอให้กรรมาธิการวิสามัญฯ และอนุกรรมาธิการฯ ทุกท่าน ได้ปกป้องพวกเรา โดยให้คงกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้พวกเราได้เติบโตเป็นอนาคตของชาติที่มีคุณภาพของประเทศไทย
น.ส.ปัญญดา สกุลทวีวัฒน์ ผู้แทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนจำนวนมากเริ่มมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ในวัยประถมศึกษา และใช้อย่างแพร่หลายในระดับมัธยมศึกษา ดังนั้น พวกเราขอแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืน ต่อต้านการซื้อ ขาย บุหรี่ไฟฟ้า โดยให้คงซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และขอให้มีการทบทวนในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. หากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายจะยิ่งแพร่หลายมากขึ้น แม้ปัจจุบันนี้ไม่ถูกกฎหมายก็พบว่ามีการลักลอบนำเข้า ซื้อขาย และใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในเด็กและเยาวชน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ บังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน
2. การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ต้องมีรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และอนุกรรมาธิการฯ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากธุรกิจยาสูบหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง