กรมควบคุมโรค ชี้ไม่จริง! หลังมีคนแชร์ข้อมูลหวั่นเข้าใจผิด ปมติดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบใหม่
อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงประเด็นแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการออกข้อบังคับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับติดบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทุกประเภท ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
หลังจากโซเชียลมีเดีย มีการแชร์ข้อความของนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความภาพฉลากเหล้า เบียร์แบบใหม่ พร้อมระบุว่านี่คือตัวอย่างฉลากที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ที่มีอำนาจออกกฎห้ามขายเวลา วัน และออนไลน์) พยายามออกข้อบังคับใช้ให้ติดบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทุกประเภทฉลากต้องใส่รูปน่ากลัว 30% ของพื้นที่ขวด ตอนนี้ร่างรอหมอชลน่าน (นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) เซ็นรับรองเเละบังคับใช้ได้เลย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ขอชี้แจงประเด็นการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการออกข้อบังคับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับติดบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทุกประเภท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามและจะมีผลใช้บังคับได้ทันทีนั้น กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
โดยร่างกฎหมายที่กำลังเป็นข่าวอยู่นั้น ได้แก่ ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. …. ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านระบบกลางทางกฎหมาย และสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่าน Google Form ระหว่างวันที่ 12-29 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งขั้นตอนหลังจากที่รับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้วจะนำมาสรุปผล เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการร่าง และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรืออนุบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ประกอบการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างประกาศฉบับนี้มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธกรณีในข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade Agreement : TBT Agreement) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแจ้ง (Notification) กฎระเบียบ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการค้าของประเทศสมาชิกอื่น จึงต้องมีการแจ้งเวียนร่างประกาศดังกล่าวให้กับประเทศสมาชิก WTO เพื่อพิจารณาให้ความเห็น หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว เสร็จสิ้น จึงจะสามารถเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลงนามเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีระบบเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (TAS) โดยสามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ https://tas.go.th ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถร้องเรียนผ่านระบบดังกล่าวได้ และขอความร่วมมือจากประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร.0 2590 3342 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422