WHO แนะไทย แก้กฎหมายน้ำเมา ควบคุมโฆษณา-จำกัดการเข้าถึง “แอลกอฮอล์”
WHO แนะมาตรการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรแก้ไขกฎหมายควบคุมน้ำเมา ควบคุมโฆษณา-จำกัดการเข้าถึงทางกายภาพ ปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 67 นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์โลกในการจัดการปัญหาจากบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขององค์การอนามัย (WHO Global Strategy to reduce Harmful Use of Alcohol) แนะนำ 10 ข้อเสนอแนะที่ได้ผล โดยเฉพาะมาตรการที่ได้ผลสูงในการลดการบริโภคและผลกระทบในประชากร ได้แก่
1. ควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. ควบคุมกิจกรรมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. นโยบายด้านภาษีและราคา
ซึ่งประเทศต่างๆ ต้องดำเนินทุกมาตรการไปพร้อมกันทุกมิติ จึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้ จากผลงานวิจัยศึกษาระยะยาว 21 ชิ้นจากทั่วโลก ยืนยันว่า การได้รับสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับการเริ่มต้นดื่มของเด็กและเยาวชน และการดื่มหนักมากขึ้นในกรณีเป็นนักดื่มอยู่แล้ว
“เด็กและเยาวชนเป็นประชากรกลุ่มอ่อนไหวต่อผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งจากการดื่มของผู้ใหญ่ การเข้าถึงจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้ง่าย และการพบเห็นกิจกรรมการตลาดและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลากหลายช่องทาง จะส่งผลต่อทัศนคติ การรับรู้ และความคาดหวังเชิงบวกต่อการดื่ม ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจเริ่มดื่ม การอยากทดลองดื่ม การเลือกที่จะดื่ม และยังส่งผลต่อทัศนคติของสังคมว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องธรรมดา” นพ.จอส กล่าวย้ำ
นพ.จอส กล่าวต่อว่า แนวปฏิบัติการควบคุมกิจกรรมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะได้ผลดีที่สุดคือ การมีกฎหมาย ไม่ใช่การใช้หลักการควบคุมกันเองของธุรกิจ โดยควรมีการควบคุมทั้ง
1. เนื้อหาและปริมาณกิจกรรมการตลาด ควบคุมการตลาดทางตรงและทางอ้อมในสื่อทุกช่องทาง
2. ควบคุมการกิจกรรมการให้ทุนอุปถัมภ์ (Sponsorship Activities) ที่ส่งเสริมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำกัดหรือห้ามการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมที่มีเยาวชนเป็นผู้เข้าร่วม
3. ควบคุมเทคนิคการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบใหม่ เช่น การสื่อสารการตลาดใน Social Media
นพ.จอส กล่าวอีกว่า มาตรการควบคุมด้วยกฎหมายเหล่านี้ จะทำให้เด็กและเยาวชน ได้รับสื่อกิจกรรมการตลาด (Exposure) ลดลงในภาพรวม ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันการเริ่มต้นดื่มของประชากรกลุ่มนี้ และยังช่วยลดปัจจัยกระตุ้นการดื่ม (Reactivity) หรือความอยากดื่ม (Craving) ของผู้ดื่มหรือผู้ติดสุราด้วย ที่สำคัญเป็นการป้องกันอิทธิพลของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการปรับเปลี่ยนหรือชี้นำค่านิยมเชิงบวกทางสังคม ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบอย่างกว้างขวางทั้งในมิติด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม
“เนื่องจากเด็กและเยาวชนอยู่บนพื้นที่และสภาพแวดล้อมทางกายภาพเดียวกันกับผู้ใหญ่ และยังเข้าถึงสื่อทางกายภาพและออนไลน์ได้ตลอดเวลา แนวปฏิบัติมาตรการควบคุมกิจกรรมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถแยกกฎหมายควบคุมเฉพาะการตลาดที่มุ่งเป้าไปสู่เด็กได้ ดังนั้น การปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากโฆษณาและกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรเป็นมาตรการที่กำหนดสำหรับทุกช่องทางและเทคนิคกลยุทธ์การตลาด ควบคู่ไปกับมาตรการที่จำกัดการเข้าถึงทางกายภาพที่มีประสิทธิผลและระบบใบอนุญาตที่คำนึงถึงการกระจายของปัญหาจากการบริโภคร่วมด้วย” นพ.จอส กล่าว