กรมการแพทย์แนะใช้แอป TBVDOT ติดตามการทานยาผู้ป่วยวัณโรคโดยผู้เชี่ยวชาญ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะนำแอป TBVDOT ติดตามการทานยาของผู้ป่วยวัณโรค สามารถส่งภาพถ่ายประเมินอาการแพ้เบื้องต้นหรือผลข้างเคียงของยา และสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคอยดูแล เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 67 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อ เกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนัง กระดูก แต่พบมากที่ปอด สำหรับการติดเชื้อวัณโรคนั้น ติดต่อผ่านทางเดินหายใจจากผู้ป่วยที่ไอหรือจาม โดยไม่ปิดปาก เชื้อวัณโรคจะปะปนออกมากับละอองเสมหะ หรือน้ำลาย หากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสูดรับเชื้อเข้าไป จะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคตับ หรือโรคไต หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันนานๆ (สเตรียรอยด์) จะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยวัณโรค สามารถหายจากโรคได้ แต่ต้องใช้เวลาในการรักษา โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามแผนการรักษาต่อเนื่องจนครบอย่างน้อย 6 เดือน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการรักษาและรับประทานยาเป็นจำนวณมาก อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความสับสน เบื่อหน่าย และเมื่อทานยาจนพบว่าอาการดีขึ้นแล้วจึงหยุดทานยาเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะการขาดยา หรือรับประทานไม่ต่อเนื่อง จะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา ทำให้ยากต่อการรักษาและต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้น อาจแพร่เชื้อวัณโรคดื้อยาสู่ผู้อื่นได้
สถาบันโรคทรวงอกจึงได้มีการจัดทำ Application TBVDOT (Video directly observed therapy) สามารถติดตามการทานยาของผู้ป่วยได้ด้วยตนเอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคอยดูแล ข้อดี คือ มีเจ้าหน้าที่ช่วยดูการรับประทานทานยาของผู้ป่วยว่าถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ ผู้ป่วยสามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรงหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรค ส่งภาพถ่ายของตนเองเพื่อประเมินอาการแพ้เบื้องต้นหรือผลข้างเคียงของการรับประทานยา รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลังการรับประทานยาของตัวเอง ส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพ และเพิ่มโอกาสหายจากวัณโรคได้