ผลวิจัยชี้! เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง 3-4 เท่า
วันที่ 17 มิ.ย. 67 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จัดแถลงข่าว “ปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า” เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้านอกจากอันตรายต่อปอด หัวใจ สมอง แล้วยังส่งผลต่อสุขภาพจิต เพิ่มความเสี่ยงต่อมีอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล ส่งผลกระทบกับการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน
บุหรี่ไฟฟ้า ยาพิษทำลายสมองเด็ก
รศ.นพ.ชัยยศ คงคติธรรม หัวหน้าสาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นยาพิษทำลายสมองเด็ก เพราะเด็กวัยรุ่นเป็นช่วงอายุหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาของสมอง ที่ระบบสารสื่อประสาทที่จำเป็นต่อการพัฒนาของสมองในช่วงวัยนี้จะถูกรบกวนโดยตรงจากสารนิโคตินที่พบในบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า โดยนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นมาสามารถเติมและเพิ่มในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าได้สูงกว่าบุหรี่มวนถึง 10-100 เท่า นิโคตินสังเคราะห์มีคุณสมบัติที่เหนือกว่านิโคตินธรรมชาติ คือ ไม่ระคายคอทำให้เสพได้มาก ดูดซึมได้เร็วกว่าภายใน 7-10 วินาที
“ผลงานวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เช่น ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนหรือการทำงาน ความจำหรือการตัดสินใจแย่ลงกว่าคนที่ไม่สูบ โดยเด็กที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบถึง 3-4 เท่า ส่วนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าคนที่ไม่เคยสูบ 2 เท่า” รศ.นพ.ชัยยศ กล่าว
วัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้า 53% เสี่ยงโรคซึมเศร้า
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากรายงานทั่วโลกพบสถานการณ์โรคซึมเศร้าในวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเริ่มมีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า จากการศึกษาในไทย โดยใช้ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2562-2563) ในกลุ่มอายุ 10-19 ปี จำนวน 4,237 คน พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะซึมเศร้า พบวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่าครึ่งหรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้า เกิดจากนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการแต่งกลิ่นรสชาติ เป็นสารเสพติดเป็นพิษต่อสมองโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น เมื่อเข้าสู่สมองทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ประสาทในส่วนที่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น และปัญหาโรคซึมเศร้า ถือเป็นภัยคุกคามของระบบสาธารณสุข นำไปสู่ปัญหาสังคมตามมา ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันจัดการปัญหาอย่างจริงจัง การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้องกับประชาชนโดยใช้ช่องทางสื่อสารที่เหมาะสม ทันสมัย เข้าถึงได้ง่ายมีความจำเป็น ร่วมกับการยืนยันในนโยบายห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
นางสาวอัจฉรา ประจงจีบ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยผลการวิจัย เรื่อง ‘ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้า การสูบบุหรี่ทั้งแบบไฟฟ้าและแบบมวนร่วมกัน กับความเครียดทางจิตใจในเยาวชนเขตภาคเหนือของประเทศไทย’ ตีพิมพ์ในวารสาร Tobacco Induced Diseases ปี 2567 กลุ่มตัวอย่าง 3,424 คน อายุ 15-24 ปี ใน 18 สถาบันการศึกษา พบว่า ผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน (ใช้ในระยะเวลา 30 วันที่ผ่านมา) มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า 1.80 เท่า และ 1.70 เท่า ตามลำดับ และผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับบุหรี่มวนในปัจจุบันมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าถึง 2.3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งผลการวิจัยนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ และการเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน
งานวิจัยสหรัฐฯ เผยวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้า ความคิดฆ่าตัวตาย 1.55 เท่า
รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า จากงานวิจัยในวัยรุ่นสหรัฐอเมริกา 14,285 คน พบผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าเมื่อเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเลย 1.82 เท่า ความคิดฆ่าตัวตาย 1.55 เท่า วางแผนฆ่าตัวตาย 1.62 เท่า และพยายามฆ่าตัวตาย 1.75 เท่า นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเหตุของความผิดปกติทางจิตอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเกิดกลไกการเปลี่ยนแปลงในสมอง จิตใจ และสังคม เมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ประกอบด้วย นิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดออกฤทธิ์แบบกระตุ้น จะส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ได้แก่ โดพามีน และเซโรโทนิน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก
“เมื่อนิโคตินเข้าสู่สมองภายในไม่กี่วินาที ฤทธิ์การกระตุ้นของนิโคติน ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น มีเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้นทำให้รู้สึกสดชื่น ตาตื่น ไม่ง่วงนอน ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้โดพามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น ฟิน หลั่งออกมาในปริมาณมากกว่าภาวะปกติที่ได้จากการทำกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ดังนั้นไม่กี่วินาทีหลังสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลให้รู้สึกโล่ง โปร่ง สดชื่น เสมือนหนึ่งคลายเครียด แต่เมื่อฤทธิ์ของนิโคตินหมดลง สารสื่อประสาทโดพามีน และฤทธิ์การกระตุ้นสมองและร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้รู้สึกอารมณ์ตก หงุดหงิด และมีอาการเศร้าได้” รศ.ดร.พญ.รัศมี กล่าว
รศ.ดร.พญ.รัศมี กล่าวว่า กลไกที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและสังคม อธิบายได้จากความรู้สึกสดชื่นทำให้เกิดภาพจำในจิตใจว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้สดชื่น คลายเครียด จึงทำให้เกิดการเสพติดในระดับจิตใจ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนที่มาพร้อมกับภาพจำที่ทำให้ตนเองรู้สึกดีในระดับสังคม เช่น มีกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วยกัน ได้รับการยอมรับ หรือเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เท่ ทำให้เกิดการเสพติดในระดับสังคม บุหรี่ไฟฟ้านอกจากอันตรายต่อปอด หัวใจ สมอง แล้วยังส่งผลต่อสุขภาพจิต เพิ่มความเสี่ยงต่อมีอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล การฆ่าตัวตาย อาการคล้ายสมาธิสั้น หงุดหงิด ส่งผลกระทบกับการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ดูแลเด็กควรมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันไม่ให้เด็กเริ่มหัดสูบบุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบทุกชนิด และรัฐบาลต้องมีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วนและบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อผู้ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า